มัสยิดในหมู่บ้านของอินเดีย อ่านละหมาดด้วยภาษาท้องถิ่น ผู้รู้รับรองว่าใช้ได้
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: อ่านละหมาดด้วยภาษาท้องถิ่น ผู้รู้รับรอง 'ใช้ได้'
เป็นเวลาอย่างน้อย 150 ปีมาแล้ว ที่มุสลิมในหมู่บ้านชิคคับบาร์ (Chikkabbar) เขตฮาวีรี (Haveri drstrict) แคว้นคาร์นาทากะ (Karnataka) อ่านละหมาดด้วยภาษาคันนาดา (Kannada) แทนที่จะเป็นภาษาอาหรับ หรือภาษาอุรดู สิ่งนี้เกิดขึ้นที่มัสยิด Hazarat Mehaboob Subani Darga ซึ่งในหมู่บ้านนี้มีผู้อาศัยอยู่ราว 400 ครอบครัว และส่วนมากพูดภาษาคันนาดา และพวกเขาไม่รู้จักภาษาอุรดู หรืออาหรับ
ดังนั้น ผู้รู้ทางศาสนา (Maulvi) จึงบรรยายศาสนาเป็นภาษาคันนาดา ซึ่งเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร และการละหมาด แม้แต่ป้ายสัญลักษณ์ ข้อความต่าง ๆ ในมัสยิดก็เขียนเป็นภาษานี้ ในขณะที่ 10 ปีหลังมานี้ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านเริ่มเรียนภาษาอุรดูที่โรงเรียนกันแล้ว
อาจารย์ โมฮัมมัด ภีรานซับ ผู้นำศาสนา กล่าวว่า ภาษาไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับที่นี่ ความสำคัญอยู่ที่การรู้ความหมายในบทต่าง และความเข้าใจในแก่นแท้ของคำสอน เมื่อมุสลิมอ่านละหมาดด้วยภาษาท้องถิ่น ขาวบ้านที่ไม่ใช่มุสลิมก็จะรับฟังด้วยความเข้าใจไปด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกในการรับรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น
ฮุสเซนซับ บิลาลลี คณะกรรมการอันยุมันอิสลาม ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลศาสนสถาน กล่าวว่า “หากผู้คนไม่เข้าใจความหมายของภาษาที่อ่าน การละหมาดก็ไม่มีความหมาย และพวกเขาก็จะไม่ปฏิบัติตามคำสอน แต่ที่หมู่บ้านนี้ แม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็ยังปฏิบัติศาสนกิจได้ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความผูกพันระหว่างผู้คนมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น”
เป็นเรื่องน่าแปลกที่บรรพบุรุษของครอบครัวชาวฮินดูในหมู่บ้านนี้ เป็นผู้บริจาคที่ดินในการสร้างมัสยิด ดูเหมือนว่า คนในหมู่บ้านอยู่ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนา แต่มีความกลมเกลียว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และร่วมมือช่วยเหลือกันในการจัดงานเทศกาล และในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ
ที่มา: www.news18.com