นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสาขาแม่น้ำไนล์โบราณที่สาบสูญ อาจเป็นเส้นทางลำเลียงหินสร้างพีระมิด
โลกของเราเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์จำนวนมากที่จนถึงทุกวันนี้ยังคงเป็นปริศนาว่าถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะ “พีระมิด” ของอียิปต์ กับคำถามว่า ชาวอียิปต์โบราณขนส่งก้อนหินขนาดใหญ่มาใช้สร้างพีระมิดได้อย่างไร
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์รายงานการค้นพบกิ่งก้านสาขาของแม่น้ำไนล์ที่ถูกฝังไว้ โดยเป็นแนวยาวกว่า 64 กิโลเมตรที่ทอดผ่านหรืออยู่ใกล้เคียงพีระมิดของอียิปต์ถึง 31 แห่ง รวมถึงหมู่พีระมิดกิซา (Giza) พีระมิดที่มีชื่อเสียงที่สุดของอียิปต์ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่ 4 (ช่วง 2,600 ปีก่อนคริสตกาล)
นอกจากนี้ยังผ่านพีระมิดชื่อดังอื่น ๆ ด้วย เช่น คาเฟร ชีออปส์ ไมเคอริโนส ฯลฯ
การค้นพบนี้มีความสำคัญมาก เพราะการมีอยู่ของสาขาแม่น้ำนี้จะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมพีระมิด 31 แห่งจึงถูกสร้างขึ้นแบบเรียงต่อกันเป็นแนว ในจุดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งหรือก่อสร้างใด ๆ
เอมาน โกนีม จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา วิลมิงตัน หนึ่งในทีมผู้คนพบ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักโบราณคดีตั้งสมมติฐานมานานแล้วว่า ชาวอียิปต์โบราณต้องใช้ทางน้ำใกล้เคียงเพื่อเคลื่อนย้ายวัสดุก่อสร้างขนาดยักษ์อย่างแน่นอน “แต่ไม่มีใครมั่นใจเกี่ยวกับตำแหน่ง รูปร่าง ขนาด หรือระยะห่างของทางน้ำขนาดใหญ่นี้กับแหล่งพีระมิดจริง ๆ มาก่อน”
ทีมนักวิจัยนานาชาติใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์เพื่อทำแผนที่สาขาแม่น้ำ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “อะห์รามัต” (Ahramat) ที่เป็นภาษาอาหรับแปลว่า พีระมิด
“เรดาร์ทำให้พวกเรามีความสามารถพิเศษในการเจาะพื้นผิวทรายและสร้างภาพคุณลักษณะที่ซ่อนอยู่ รวมถึงแม่น้ำที่ถูกฝังอยู่และโครงสร้างโบราณ” โกนีมกล่าว
หลังจากนั้นทีมวิจัยทำการลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจ และศึกษาแกนตะกอนจากพื้นที่ดังกล่าว และสามารถยืนยันการมีอยู่ของสาขาแม่น้ำนี้ได้
ทีมวิจัยระบุว่า สาขาแม่น้ำนี้เคยยิ่งใหญ่มาก แต่ถูกปกคลุมด้วยทรายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเริ่มต้นในช่วงที่เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 4,200 ปีก่อน
โกนีมบอกว่า พีระมิดหลายแห่งมี “ทางเดินยกสูงสำหรับประกอบพิธีการ” ซึ่งทอดยาวไปตามแม่น้ำก่อนจะสิ้นสุดที่วิหารในหุบเขาซึ่งทำหน้าที่เป็นท่าเรือ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าแม่น้ำมีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุก่อสร้างจำนวนมหาศาลและคนงานที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างพีระมิด
ซูซาน ออนสทีน จากมหาวิทยาลัยเมมฟิส หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า วัสดุก่อสร้างที่หนักเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางใต้ “จะลอยไปตามแม่น้ำได้ง่ายกว่าการขนส่งทางบก”
เธอเสริมว่า ริมฝั่งแม่น้ำอาจเป็นจุดที่ผู้ติดตามศพของฟาโรห์ขึ้นฝั่ง ก่อนที่ศพจะถูกย้ายไปยังสถานที่ฝังศพสุดท้ายภายในพีระมิด
นอกจากนี้ ออนสทีนบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสาขาแม่น้ำสายนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีพีระมิดกระจายไปอยู่จุดอื่น “เส้นทางของน้ำและปริมาตรของน้ำเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้นการตัดสินใจของกษัตริย์ราชวงศ์ที่ 4 กับกษัตริย์ราชวงศ์ที่ 12 จึงแตกต่างกัน”
เธอเสริมว่า “การค้นพบนี้ทำให้ฉันนึกถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์”
บทความที่น่าสนใจ
- ดูกันจะๆ อียิปต์เปิดฝาโลงมัมมี่กว่า 2,000 ปี
- ตำรวจอียิปต์ยิงสังหาร 2 นักท่องเที่ยวอิสราเอล
- “โมฮัมเหม็ด มอร์ซี” อดีตประธานาธิบดีอียิปต์เสียชีวิต หลังล้มฟุบกลางศาล
- ความช่วยเหลือมนุษยธรรมเข้าสู่กาซา ครั้งแรกตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาส
- ทีมชาติอียิปต์ เตรียมใช้งาน “ซาลาห์” ลุยโอลิมปิกเกมส์
- นายกฯ ยืนยัน ไทยมุสลิมไม่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ
- เหตุใดโรงเรียนในอิยิปต์ ตั้งชื่อ 'โมซาลาห์' นักเตะฝีเท้าเยี่ยม!
- โหด! หนุ่มจุดไฟเผาเมีย ย่างสด แต่ง3ปีไร้ลูก
- อียิปต์ระส่ำ แพทย์-พยาบาลศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 17 ราย
- 'ซาลาห์' ติงมุสลิมหัวเก่า ปรับมุมมองต่อสตรี