‘ยูเอ็น’ เตือน เป้าหมาย SDG อยู่ในอันตราย โลกกลับไปอดอยากอย่างที่ไม่เคยเป็นตั้งแต่ 2005
‘ยูเอ็น’ เตือน เป้าหมาย SDG อยู่ในอันตราย โลกกลับไปอดอยากอย่างที่ไม่เคยเป็นตั้งแต่ 2005
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุผ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความยากจนขั้นรุนแรง พัฒนาการเข้าถึงอาหารและน้ำที่ถูกสุขอนามัย และก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับมวลมนุษยชาตินั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย
ก่อนหน้านี้ในปี 2015 รัฐสมาชิกยูเอ็นได้รับรองเป้าหมาย SDG จำนวน 17 ข้อ เมื่อปี 2015 ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทั้งโลกภายในสิ้นทศวรรษ หรือ ปี 2030 นี้ อย่างไรก็ดี รายงานการประเมินเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ของยูเอ็นระบุว่า หลังจากผ่านมา 8 ปี หรือครึ่งทางก่อนที่จะสิ้นสุดเป้าหมาย SDG ตามกำหนดดังกล่าว เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนแห่งมนุษยชาติกลับตกอยู่ในอันตรายและกำลังเลือนลางหายไป โดยกว่าครึ่งหนึ่งของโลกมีแนวโน้มที่จะถูกทอดทิ้ง
“หากพวกเราไม่ลงมือทำตอนนี้ เป้าหมายปี 2030 อาจกลายเป็นคำจารึกบนหลุมศพของโลกที่ควรจะเป็น” อันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเตือนในคำนำของรายงานยูเอ็นฉบับนี้
โดยผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินพื้นที่เป้าหมาย 140 ประการตามโจทย์ของ SDG ครอบคลุมตั้งแต่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและการทำให้ผู้คนมากขึ้นมีพลังงานใช้ พบว่า กว่า 30% ของเป้าหมายเหล่านี้ กลับไม่คืบหน้าหรือกระทั่งประสบภาวะถดถอยนับตั้งแต่ปี 2015 ขณะที่เป้าหมายราวกึ่งหนึ่งมีการเบี่ยงเบนในระดับปานกลางหรือรุนแรงออกจากเส้นทางที่ตั้งเป้าไว้
ยกตัวอย่างเช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มความยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งหมายถึงการดำรงชีพด้วยเงินน้อยกว่า 2.15 ดอลลาร์ต่อวัน ลดลง ในความจริงในปัจจุบัน ผู้คน 575 ล้านคน จะยังคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ในปี 2030 โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตย่อยของทะเลทรายซาฮารา แม้ตัวเลขนี้จะลดลง 30% จากปี 2015 แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้
“น่าตกใจที่โลกกลับเข้าสู่ภาวะอดอยากอย่างที่ไม่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2005” รายงานระบุ โดยเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก หรือราว 2,300 พันล้านคน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางหรือรุนแรงในปี 2021 และภาวะทุพโภชนาการในเด็กยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลทั่วโลก พร้อมเสริมว่า ปัจจุบัน ประชากรประมาณ 1.1 พันล้านคน อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดหรือสภาพชีวิตที่เหมือนสลัมในเมืองต่างๆ โดยคาดว่าตัวเลขผู้คนในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อการศึกษา หากปราศจากมาตรการใหม่ๆ จะมีประเทศเพียง 1 ใน 6 ที่บรรลุเป้าหมายการเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอย่างถ้วนหน้าภายในปี 2030 ขณะที่เด็ก 84 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
รายงานยูเอ็นยังกล่าวถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศที่มีความก้าวหน้าที่ช้าเกินไป พร้อมระบุว่าด้วยอัตราการพัฒนาในปัจจุบัน จะต้องใช้เวลา 286 ปี ในการถมช่องว่างทางเพศในเรื่องการคุ้มครองและการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย
กุแตเรซ กล่าวด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีภาระหนี่จำนวนมากคือผู้ที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุดจากความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ ยูเอ็นจึงเรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดในวันที่ 18-19 กันยายนเพื่อรับรองแผนช่วยเหลือในด้านเป้าหมาย SDG ที่ต้องการให้รัฐสมาชิกมีความมุ่งมั่นทางการเมืองใหม่ที่เข้มแข็งขึ้น รวมถึงเสียงสนับสนุนข้อเสนอของกุแตเรซในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : https://www.matichon.co.th/