บทสัมภาษณ์พิเศษของเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกน ยังคงสร้างความสั่นคลอนให้พระราชวงศ์อังกฤษอย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลายประเทศในเครือจักรภพ ฉวยโอกาสใช้ประเด็นข้อกล่าวหาต่างๆ เช่น เหยียดผิว, การละเลยทางอารมณ์ และการกลั่นแกล้งในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ มาตั้งคำถามว่า ถึงเวลาที่จะออกจากเครือจักรภพหรือยัง
อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย มัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ เป็นหัวหอกในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยบอกว่า สมเด็จพระราชินีนาถลิซาเบธที่ 2 ควรจะเป็นประมุของค์สุดท้ายของสหราชอาณาจักร และออสเตรเลียควรพิจารณาอย่างจริงจังด้วยว่า "ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ สมควรจะมาเป็นประมุขของเราหรือไม่"
ข้อกล่าวหาของเมแกนกรณีมีสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ กังวลเรื่องสีผิวของอาร์ชี่ว่าจะเข้มหรือไม่ ได้ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้ง จาเมกา, แอฟริกาใต้, บาร์เบโดส และอินเดีย พากันบอกว่า เป็นการกระตุ้นเตือนความจำถึง "การเหยียดเชื้อชาติในอาณานิคมของอังกฤษ" ส่วนแจ็กมีท ซิงห์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน "ประชาธิปไตยใหม่" ของแคนาดา บอกว่า "สถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อชาวแคนาดา ในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบที่เราเคยเห็น ก็ดูเหมือนจะอยู่คู่สถาบันเช่นกัน"
ส่วนนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด พูดเพียงว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะตั้งคำถามว่า ควรปฏิรูปรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขาหวังว่าสมาชิกทุกพระองค์ในพระบรมวงศานุวงศ์ จะพบทางออกที่ดีที่สุด ส่วนตัวเขาขอโฟกัสไปที่การฝ่าฟันโรคระบาดไปให้ได้ก่อน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดน ของนิวซีแลนด์ ที่บอกว่า ยังไม่มีความ "กระหาย" ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้
ตรงข้ามกับทางฝั่งแอฟริกา ที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งในแอฟริกาใต้ ตั้งคำถามว่า "คาดหวังอะไรกับอังกฤษกับพระราชวงศ์ พวกเขากดขี่เรามาหลายปีแล้ว" ส่วนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ในอูกันดา บอกว่า การสัมภาษณ์ช่วยเปิดตาเราให้กว้างขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหล่าประมุขของเครือจักรภาพ ยังสมควรจะภาคภูมิใจที่ร่วมโต๊ะเสวยกับพระราชวงศ์อยู่หรือไม่