สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 25 ไมครอน (PM25) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
15 ธ.ค.63 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (15 ธ.ค.63) ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 57 พื้นที่มีค่าฝุ่นละอองในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) เพิ่มขึ้นเป็น 14 พื้นที่ บริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง , ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ , ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ , ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน , ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม , ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ , ริมถนนสามเสน เขตพระนคร , ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน , ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน , ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด , แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ , แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ และริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต พบมีค่าสูงสุดบริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง อยูู่ที่ 119 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เกินมาตรฐาน 22 พื้นที่ พบค่าสูงสุดบริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง อยู่ที่ 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดย ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ติดตามสถานการณ์สาเหตุเกิดจากการจราจรหนาแน่น ประกอบกับปัจจัยเกิดความกดอากาศต่ำในรูปแบบฝาชีครอบ สภาพอากาศนิ่ง อบอ้าว ขมุกขมัว และลมสงบ ยิ่งทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัวและสะสมในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น เบื้องต้นได้ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในเขตปริมณฑลและกรุงเทพมหานครจนถึงวันที่ 17 ธันวาคมนี้ แล้วประเมินสถานการณ์อีกครั้งหากมีความเร็วลมสูงขึ้นและอากาศยกตัวจะช่วยให้ฝุ่นลดลง
ซึ่งอันดับแรกต้องควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยควันดำบนท้องถนนก่อน พร้อมทั้ง ประสานกระทรวงศึกษาธิการแจ้งโรงเรียนต่างๆงดทำกิจกรรมในที่โล่งช่วงวิกฤติฝุ่นละออง เพื่อลดการสูดดมฝุ่นโดยตรง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเข้มงวดเป็นวิธีดีที่สุด
ในวันนี้ (15 ธ.ค.63) เว็บไซต์ Airvisual รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลก 10 อันดับ ณ เวลา 06.00 น. พบเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) ได้แก่
1. ธากา, บังกลาเทศ 295 AQI
2. บิชเคก, คีร์กีซสถาน 244 AQI
3. กรุงเทพมหานคร, ไทย 190 AQI
4.โกลกาตา, อินเดีย 174 AQI
5. การาจี, ปากีสถาน 172 AQI
6. ลาฮอร์, ปากีสถาน 170 AQI
7. เดลี, อินเดีย 169 AQI
8. มิลาน, อิตาลี 168 AQI
9. วรอตสวัฟ, โปแลนด์ 167 AQI
10. Ulaanbaatar, มองโกเลีย 166 AQI
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากประชาชนหลายคนประมาทไม่ป้องกัน เพราะมองว่าไม่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจึงมองข้ามการป้องกันตนเองจนส่งผลให้เกิดการสะสมต่อสุขภาพระยะยาว ทั้งนี้ ขอประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท หลีกเลี่ยงพื้นที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และหากมีอาการทางสุขภาพรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์