ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ จากการเพิกถอนสิทธิของชาวมุสลิมโรฮิงญา
ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำหนดจัดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ จะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากการเพิกถอนสิทธิของชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคน
โทมัส แอนดรูว์ กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติว่า การเลือกตั้งของพม่าจะไม่เสรีและยุติธรรมเพราะการกีดกันโรฮิงญาที่อยู่ในเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่และค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
“ผลการเลือกตั้งจะไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างถูกต้อง เมื่อสิทธิในการเลือกตั้งถูกปฏิเสธเนื่องจากเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือศาสนาของบุคคลนั้น และผมไม่เห็นหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลตั้งใจหรือเตรียมอำนวยความสะดวกต่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่อยู่ในรัฐยะไข่หรือในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ” โทมัส แอนดรูว์ กล่าว
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าไปบังกลาเทศในปี 2560 ระหว่างการปราบปรามภายใต้การนำของทหาร ที่สหประชาชาติกล่าวว่า มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และว่าพม่ามีเป้าหมายที่กลุ่มติดอาวุธที่โจมตีด่านตำรวจ
โรฮิงญาหลายแสนคนยังคงอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ และถูกควบคุมอยู่ในค่ายพักและหมู่บ้านต่างๆ
จ่อ ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อคณะมนตรีว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของพม่าได้กำหนดเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส น่าเชื่อถือ และสะท้อนถึงความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคณะกรรมการได้ตรวจสอบใบสมัครอย่างละเอียดเพื่อรับประกันว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 12 คน ที่ยื่นสมัครลงรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มี 6 คนถูกปฏิเสธ หลังเจ้าหน้าที่กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาเป็นพลเมืองพม่าในช่วงเวลาที่เขาเกิด ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดภายใต้กฎหมายการเลือกตั้ง
พม่าไม่ยอมรับคำว่าโรฮิงญาหรือชุมชนชาวโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองของประเทศ ในทางกลับกัน พวกเขาเรียกชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ว่าเบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าจะสืบย้อนประวัติศาสตร์ของพวกเขาในรัฐยะไข่ของพม่ากลับไปได้หลายศตวรรษก็ตาม
รัฐบาลทหารที่ปกครองพม่าได้กำจัดเอกสารประจำตัวของชาวโรฮิงญา ทำให้หลายคนไม่มีหลักฐานที่มาของตนเอง