ซาอุดีอาระเบียจ่อเพิ่มการส่งออกเป็น 106 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ซาอุดีอาระเบียในวันจันทร์ (30 มี.ค.) เปิดเผยว่า จะเพิ่มการส่งออกเป็น 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ยกระดับการทำสงครามราคากับรัสเซีย
ราคาน้ำมันแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี หลังโรคระบาดใหญ่ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)” คุกคามเศรษฐกิจโลกจนเสี่ยงถลำสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะฉุดอุปสงค์ทางพลังงานดำดิ่งเช่นกัน
ซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งประกาศเพิ่มกำลังผลิตอย่างมากสำหรับเดือนเมษายน บอกว่า พวกเขาจะเพิ่มเติมอุปทานเข้าสู่ตลาด นั่นทำให้สถานการณ์น้ำมันดิบล้นตลาดจะยิ่งสาหัสกว่าเดิม
เอสพีเอ สื่อมวลชนแห่งรัฐอ้างคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งประจำกระทรวงพลังงาน ระบุว่า “ซาอุดีอาระเบียมีแผนเพิ่มกำลังส่งออกอีก 600,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม ดังนั้น การส่งออกรวมจะเพิ่มเป็น 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน”
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงลดกำลังผลิตในหมู่ 24 ชาติสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตหรือ OPEC+ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย ทางซาอุดีอาระเบียมีโควตาสำหรับส่งออกน้ำมันเพียงแค่ 7.0 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาติเพื่อนบ้านอ่าวเปอร์เซียของซาอุดีอาระเบีย ก็ประกาศเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันอีกอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบีย เผยว่า กำลังเพิ่มการส่งออกสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน หลังข้อตกลงลดกำลังผลิตพังครืนลงเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม
OPEC+ ล้มเหลวในความพยายามบรรลุข้อตกลงลดกำลังผลิตเพิ่มเติมเพื่อผลักดันราคาน้ำมัน ในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก
ในความพยายามฉกฉวยส่วนแบ่งตลาด ซาอุดีอาระเบียประกาศในทันที ว่า จะเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอย่างมากเป็น 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มการส่งออกเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป
กระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย บอกว่า น้ำมันดิบที่จะส่งออกเพิ่มเติมนั้นมีแหล่งที่มาจาก 2 ทาง นั่นก็คือ ตลาดภายในประเทศหันไปใช้แก๊สธรรมชาติมากขึ้น จึงเหลือน้ำมันดิบมากพอสำหรับส่งออก ขณะเดียวกัน การบริโภคภายในก็ลดลงอย่างมากอีกด้วย สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส
ระหว่างการซื้อขายในวันจันทร์ (30 มี.ค.) ช่วงหนึ่งน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ ร่วงลงไปแตะระดับ 22.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 17 ปี ขณะที่มีสัญญาณเตือนว่าราคาน้ำมันดิบอาจดิ่งลงไปมากกว่านี้ เนื่องจากคลังสำรองทั่วโลกใกล้เต็มความจุแล้ว