คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะกับแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็น
วันที่ 21 มกราคม 2563 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะกับแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู โดยตรง อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดให้มีการพูดคุยขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตั้งความหวังในการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าเจ็ดพันราย นับตั้งแต่ปี 2547
พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ในวันอังคารนี้ว่า ตนเองพร้อมด้วยคณะผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อันนาส อับดุลเราะห์มาน (Mr. Anas Abdulrahman) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อวันจันทร์นี้ ซึ่งมี นายอับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก และในวันเดียวกันนี้ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ได้แถลงข่าวในกัวลาลัมเปอร์และออกแถลงการณ์ยืนยันถึงการเจรจาเป็นครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
“การพูดคุยฯ ครั้งนี้ เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขปัญหา และสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยสันติวิธี โดยได้ออกแบบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” แถลงการณ์ฝ่ายไทย ระบุ
“การพูดคุยฯ ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จักและรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการพูดคุย ในห้วงต่อไปมีความก้าวหน้า และต่อเนื่อง โดยบรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป” แถลงการณ์ฝ่ายไทย กล่าวเพิ่มเติม
นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบปล้นปืนไรเฟิลกว่าสี่ร้อยกระบอกไป จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์ยิง-ระเบิด ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย
ทั้งนี้ ในปี 2556 สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายไทยได้ริเริ่มการเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นแกนนำ แต่ล้มเหลวในปลายปีเดียวกัน จากนั้น ในเดือนสิงหาคม 2558 ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายขบวนการฯ ต่างๆ ได้ตั้งองค์กรร่มที่ชื่อว่า “มาราปาตานี” ขึ้นมาเจรจากับฝ่ายไทย แต่ได้สะดุดลงอีกครั้งในต้นปี 2562 ซึ่งจริงๆ แล้วในมาราปาตานี ก็มีที่มีตัวแทนฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็น รวมอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบางกลุ่ม ได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยเจรจากับบีอาร์เอ็นโดยตรง
การพบปะเมื่อวันจันทร์ มีขึ้นในเมืองหลวงของมาเลเซีย ในขณะเดียวกับที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่
“เราหวังว่า การปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน สามารถช่วยลดความรุนแรงได้” พลเอกประยุทธ์กล่าว ในห้วงการเยือนสองวัน
และเมื่อปลายปีที่แล้ว กับเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนไทย และบีอาร์เอ็น ได้มีการหารืออย่างลับ ๆ ขึ้น ในกรุงเบอร์ลิน โดยมีองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งเป็นตัวกลาง แต่ไม่มีการปรึกษาล่วงหน้ากับมาเลเซียเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้
ในส่วนฝ่ายไทยนั้น ได้มีการตั้งคำถามว่า การเจรจาที่ผ่านๆ มานั้น ถูกฝาถูกตัวหรือไม่ เพราะแม้มีการเจรจากันอยู่ แต่ความรุนแรงไม่ได้หายไปจนหมด
ในวันนี้ ฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าววงเล็กไม่กี่ราย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และได้ออกแถลงการณ์ยืนยันการพบปะที่มีขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้
“หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันอย่างขันแข็ง เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการริเริ่มและหารูปแบบกรอบการเจรจาและเงื่อนไข สำหรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย ที่ธำรงไว้ซึ่งความจริงใจ และความซื่อสัตย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ด้วยเกียรติ ความเที่ยงธรรม และยั่งยืน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 นี้ ได้มีการเจรจาเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมี นายอับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งลุล่วงไปได้ด้วยดี” ฝ่ายบีอาร์เอ็น กล่าวในแถลงการณ์