รัฐบาลที่นำโดยพรรคบีเจพี ซึ่งเน้นนโยบายฮินดูชาตินิยมให้เหตุผลว่า กฎหมายนี้ต้องการ
กฎหมายสัญชาติใหม่ (Citizenship Amendment Bill) ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เป็นชนวนเหตุของการชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอินเดีย เพราะอนุญาตให้ผู้นับถือศาสนา ฮินดู เชน ปาสี คริสต์ ซิกข์ พุทธ ที่มาจากอัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ ที่อาศัยหรือทำงานในอินเดียเป็นเวลา 6 ปี สามารถยื่นขอสัญชาติใหม่ได้ ยกเว้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคบีเจพี ซึ่งเน้นนโยบายฮินดูชาตินิยมให้เหตุผลว่า กฎหมายนี้ต้องการช่วยเหลือผู้คนที่ถูกกลั่นแกล้งในประเทศต่างๆ เป็นการให้พื้นที่หลบภัยแก่ผู้ที่ต้องลี้ภัยอันเนื่องมาจากเหตุผลทางศาสนา และการยกเว้นเพียงศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวโรฮิงญาจากพม่าและมุสลิมชนกลุ่มน้อยจะไม่สามารถขอสัญชาติได้
ผู้ไม่เห็นด้วยวิจารณ์ว่า กฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้มุสลิมเป็นคนชายขอบ ตามวาระหลักของพรรคบีเจพี ที่สำคัญก็คือ กฎหมายนี้กับหลักการรัฐโลกวิสัยของอินเดีย (secular state) ที่แยกศาสนาออกจากรัฐ ศรัทธาหรือความเชื่อทางศาสนาไม่สามารถเป็นเงื่อนไขของการมีสัญชาติได้
การประท้วงกฎหมายสัญชาติฉบับแก้ไขใหม่เริ่มต้นที่รัฐอัสสัมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมก่อน จากนั้นจึงลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ล่าสุดนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ตำรวจบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยจาเมีย มิลเลีย อิสลาเมีย (JMI) ที่กรุงนิวเดลี และควบคุมตัวนักศึกษามากกว่า 100 คน ทุบตีด้วยไม้กระบองและยิงแก๊สน้ำตาใส่ มหาวิทยาลัยถูกปิดในวันรุ่งขึ้น นักศึกษาปริญญาตรีอายุ 18 ปีคนหนึ่งบอกว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ จากนั้นใช้ไม้กระบองฟาดไม่ยั้ง ไม่เว้นแม้แต่ผุู้หญิง จนเธอหมดสติและได้รับการนำตัวส่งโรงพยาบาล
ที่รัฐอุตตรประเทศ ตำรวจปราบจราจลปราบปรามนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอลิการห์ มุสลิม ยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนและจับกุมผู้ชุมนุมหลายสิบคน นอกจากนี้ยังบล็อคสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่คืนวันอาทิตย์จนถึงเช้าวันจันทร์ ก่อนพยายามเข้าจับกุม
ส่วนที่รัฐอัสสัมการชุมนุมในวันที่ 15 ธันวาคมมีประชาชนกว่า 6 พันคนเข้าร่วมการชุมนุมบนท้องถนน ขณะที่ทหารและตำรวจตรึงพื้นที่ และเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน ทางการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและประกาศเคอร์ฟิว วันรุ่งขึ้นมีการเดินขบวนโดยยึดแนวทางสันติวิธี แต่ก็ถูกตำรวจขัดขวาง แกนนำประมาณ 150 คนถูกควบคุมตัว
การชุมนุมประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเมืองมุมไบ ไฮเดอราบัด เชนไน เบงกาลูรู โกลกัตตา ที่เมืองลัคเนานักศึกษาขว้างก้อนหินใส่ตำรวจ หลังจากที่ถูกแก๊สน้ำตา
นักศึกษาอินเดียที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกากว่า 400 คนร่วมลงชื่อประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และสนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษาในประเทศ
ด้านนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีทวีตข้อความแรกต่อการชุมนุมคัดค้านกฎหมายว่า “โชคร้ายและน่ากังวลใจที่ผู้ประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติใช้ความรุนแรง การอภิปราย พูดคุย และความขัดแย้งจำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เคยทำลายทรัพย์สินของสาธารณะและก่อกวนความไม่สงบของคนส่วนใหญ่” ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม เขากล่าวหาว่าสภาคองเกรสแพร่กระจายเรื่องโกหกเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวแก่ชาวมุสลิม และกล่าวหาว่าฝ่ายค้านกำลังเล่นการเมืองกับฝั่งตน