กลายเป็นกระแสข่าวฮือฮาอย่างมาก หลังอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่
กลายเป็นกระแสข่าวฮือฮาอย่างมาก หลังอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยังมีผลบังคับให้กับชาวต่างชาติ จนก่อให้เกิดความกังวลในวงกว้างว่าจะร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวหรือไม่
โดยข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า นาซีร์ ดาจามี นักการเมืองจากพรรค Prosperous Justice Party กล่าวว่า ภายใต้ร่างกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้แทนที่กฎหมายซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประเทศยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ จะแสดงออกถึงความเป็นเอกราชและความเลื่อมใสในศาสนาของอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐจะต้องปกป้องพลเมืองจากพฤตกรรมที่ขัดแย้งต่อคำสอนสูงสุดของพระเจ้า
ด้วยร่างกฎหมายใหม่นี้ คู่รักใด ๆ ที่ใช้ชีวิตกินอยู่เป็นสามีภรรยา โดยยังไม่ผ่านการสมรส จะต้องรับโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับสูงสุด 10 ล้านรูเปียห์ (ราว 21,000 บาท) หากผู้นำหมู่บ้านยื่นคำร้องต่อตำรวจ โดยที่ทางพ่อแม่และลูก ๆ ของคู่รักดังกล่าวไม่คัดค้าน หรือพ่อแม่ ลูก ๆ รวมถึงคู่สมรส จะเป็นฝ่ายเข้าแจ้งความกับตำรวจก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากบุคคลใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่สมรส ยังอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 1 ปีด้วย หากถูกยื่นคำร้อง ซึ่งทางองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แสดงความกังวลว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อคนอินโดนีเซียหลายล้านคน เพราะจากการศึกษาพบว่ามีวัยรุ่นชาวอินโดนีเซียจำนวนมากถึง 40% ที่มีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน
แน่นอนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังทำให้เกิดความกังวลในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบาหลี ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมาก ขณะที่ทางการออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะบาหลีนับล้านคนในแต่ละปี ก็ได้ออกประกาศเตือนถึงพลเมืองออสเตรเลีย ให้รับทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว
เมื่อถามฝ่ายนิติบัญญัติของอินโดนีเซีย ว่ากฎหมายใหม่จะมีผลต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่ กลับได้รับคำตอบว่า "ไม่มีปัญหา ตราบเท่าที่ไม่มีใครรู้"
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา เดอะซิดนีย์ มอร์นิ่งเฮรัลด์ มีรายงานว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโด ได้ออกมาร้องขอรัฐสภาให้เลื่อนการผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกไปแล้ว ท่ามกลางความกังวลเรื่องผลกระทบต่อรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบาหลี หากจะให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อชาวต่างชาติด้วย จนกลุ่มสิทธิมนุษยชนและชุมชนต่าง ๆ ออกมาแสดงการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้