รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ความรุนแรงทางเพศโดยทหารพม่าที่เกิดกับชาวมุสลิมโรฮิงญา
รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ความรุนแรงทางเพศโดยทหารพม่าที่เกิดกับชาวมุสลิมโรฮิงญาเทียบได้กับอาชญากรรมสงคราม และเสริมว่า สภาพการณ์ดังกล่าวไม่เอื้อให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับพม่า
ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ กล่าวว่า “ทหารใช้การข่มขืน การรุมโทรม และการกระทำทางเพศที่บังคับและรุนแรงอื่นๆ กับผู้หญิง เด็กหญิง เด็กชาย ผู้ชาย และคนข้ามเพศอยู่เป็นประจำและเป็นระบบในการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจนโจ่งแจ้ง”
รายงานเสริมว่า ทหารต้องยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศในการข่มขู่คุกคามและลงโทษชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
“การกระทำเหล่านี้เทียบได้กับอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ภารกิจระบุในคำแถลง
ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หลบหนีไปยังบังกลาเทศนับตั้งแต่ทหารพม่าดำเนินการปราบปรามกลุ่มชนกลุ่มน้อยในเดือน ส.ค.2560
การผลักดันครั้งใหม่เพื่อส่งตัวผู้ลี้ภัยบางส่วนกลับประเทศเมื่อวันพฤหัสฯ ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดร่วมเดินทางไปกับรถโดยสาร 5 คัน และรถบรรทุก 10 คัน ที่ทางการบังกลาเทศจัดเตรียมไว้
ผู้ลี้ภัยปฏิเสธที่จะเดินทางกลับหากไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและคำสัญญาว่าในท้ายที่สุดพวกเขาจะได้รับสถานะพลเมืองจากพม่า แกนนำโรฮิงญาระบุในคำแถลง
รัดดีกา คูมารัสวามี ที่มีส่วนร่วมในภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ กล่าวว่า สภาพเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศอย่างปลอดภัย
คณะภารกิจ กล่าวว่า ได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและพยานหลายร้อยคนในการล่วงละเมิดทางเพศในรัฐกะฉิ่น และรัฐชานทางภาคเหนือ และรัฐยะไข่ในภาคตะวันตกของพม่า คณะจะส่งรายงานสุดท้ายต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในเดือนหน้า
โรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่าว่าเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการของประเทศ และถือว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลีลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย แม้หลายครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม