“มาราปาตานี” ร่อนแถลงการณ์จี้องค์การสหประชาชติ พ่วงองค์กรนานาชาติ
“มาราปาตานี” ร่อนแถลงการณ์จี้องค์การสหประชาชติ พ่วงองค์กรนานาชาติ ยันนายกฯมาเลย์ ให้เข้าแทรกแซงกรณีผู้ต้องสงสัยหมดสติในค่ายทหารที่ปัตตานี
ชี้ต้องร่วมมือกันดับไฟใต้และสร้างสันติภาพที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น ระบุชัดกองทัพไทยเล่นไม่ซื่อ ยันมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยหลายคนเคยถูกบันทึกเอาไว้แล้ว
แถลงการณ์ฉบับนี้เขียนโดย อาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม ซึ่งอ้างว่าเป็นหนึ่งในแกนนำ "มารา ปาตานี" องค์กรร่มของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ตัดสินใจร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาชายแดนใต้ร่วมกับรัฐบาลไทยในยุค คสช.
โดยในตอนต้นของแถลงการณ์ มีการจั่วหัวถึงผู้นำองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เลขาธิการอาเซียน นายกรัฐมนตรีของไทย นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก เป็นต้น
เนื้อหาของแถลงการณ์อ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงรายล่าสุด นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายอิงคยุทธบริหาร และหลังจากนั้นเพียงคืนเดียวก็ถูกหามส่งห้องไอซียู จากอาการสิ้นสติและสมองบวม โดย อาบูฮาฟิซ พยายามเชื่อมโยงว่าค่ายทหารแห่งนี้เคยมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงมาแล้วหลายครั้ง
ทำให้กรณีที่เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ น่าสงสัย และอาจเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันซ้ำอีกในอนาคต จึงเรียกร้องให้นานาชาติเข้าแทรกแซงปัญหานี้ เพราะเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ไม่ใช่ปัญหาในประเทศไทยเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป
สำหรับ "มารา ปาตานี" แม้จะเป็นองค์กรที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยมานานหลายปี และยังมีสมาชิกบางส่วน เช่น นายอาวัง ญาบัต (หรือ อาวัง ยาบะ) ประธานมารา ปาตานี ร่วมกระบวนการพูดคุยมาตั้งแต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 55 ก็ตาม
แต่ผลการพูดคุยก็ไม่ได้คืบหน้าจนถึงขั้นมีข้อตกลงใดๆ ในทางบวก หนำซ้ำตั้งแต่เดือน ก.พ.62 เป็นต้นมา มารา ปาตานี ยังได้ระงับการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย เพราะไม่พอใจบทบาทของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายไทย ที่ไม่ยอมเปิดโต๊ะพูดคุยในระดับหัวหน้าคณะตามที่ฝ่ายตนต้องการ
ทั้งยังประกาศว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยอีกครั้งเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น
ทว่าต่อมาในเดือน พ.ค. นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของมารา ปาตานี ก็ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่ ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งภายในองค์กรมารา ปาตานี เอง เนื่องจากมีบางกลุ่มบางฝ่ายต้องการพูดคุยกับรัฐบาลไทยต่อไป มีการนัดพบปะกันหลายครั้งทั้งในมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม ทั้งๆ ที่ นายสุกรี ฮารี พยายามระงับการพูดคุยเอาไว้