พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พรบบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เข้าสภา ให้อำนาจสภาตรวจสอบการใช้อำนาจ กำหนดนายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องขออนุมัติสภาใน 7 วัน
วันที่ 21 ก.ย. 2566 สส.พรรคก้าวไกล นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยรังสิมันต์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภาในสมัยที่ผ่านมา เกือบผ่านวาระหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกันในเวลานั้น เช่น พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้เป็นพรรครัฐบาล
เหตุผลของการเสนอกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้มีมายาวนาน และยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายขณะ โดยพบว่าปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาฯ แม้ที่ผ่านมาสภาส่งเสียง แต่มักไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เช่น สถานการณ์โควิด มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ นำไปใช้ในลักษณะการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมือง จนมีคำถามจากประชาชนว่าตกลงแล้ว การออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในเวลานั้น มีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการแก้ปัญหาโควิดหรือปกป้องผู้มีอำนาจ
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ด้วยปัญหาทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่าง พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายที่ทำให้สภาฯ สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประการที่ 1 การประกาศ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศได้ แต่เงื่อนไขในการประกาศ ต้องมีการขออนุมัติจาก ครม. ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
ประการที่ 2 การขออนุมัติกับสภาฯ รัฐบาลมีหน้าที่ทำแผนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยวิธีการใด เพราะปัจจุบัน เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลขาดความชัดเจนว่าท้ายที่สุดทำไปทำไม มีแผนอย่างไร แผนดังกล่าวจะแก้วิกฤตได้เมื่อไร ประชาชนไม่เคยรับทราบ ดังนั้นสภาฯ มีสิทธิที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่กำลังจะใช้อำนาจพิเศษ มีแผนการจัดการวิกฤตอย่างไร
ประการที่ 3 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ให้อำนาจประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการร้องศาลปกครอง ว่าถึงที่สุดยังมีเหตุในการประกาศใช้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล
ประการที่ 4 การใช้อำนาจพิเศษอย่าง พรก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องรับผิดอะไรเลย แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลระบุว่า หากการใช้อำนาจนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหาย การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจนั้น สามารถดำเนินการได้
รังสิมันต์กล่าวว่า หลักการที่นำเสนอผ่านกฎหมายฉบับนี้ คือหลักการสากลที่ประเทศไทยควรจะมี และจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับการใช้อำนาจพิเศษที่เราเข้าใจว่าบางครั้งจำเป็นต้องมีในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ ส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างเป็นที่ยอมรับ ตรวจสอบได้ จึงหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยสนับสนุนมาก่อน วันนี้เมื่อเป็นรัฐบาล หวังว่าจะไม่ทำให้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไป
“สาระสำคัญของร่างนี้คล้ายกับร่างเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุน สถานการณ์วันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างมีประการเดียว คือวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร หากเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วย เราจะสามารถเดินหน้า ทำให้กฎหมายพิเศษนี้ได้รับการตรวจสอบให้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น” รังสิมันต์กล่าว
จากนั้นรอมฎอน ซึ่งเป็นผู้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กรณีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ออกไปอีก 1 เดือน ระบุคำถามสำคัญว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีความกล้าหาญทางการเมืองเพียงใด ในการกำหนดทิศทางการบริหารสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
รอมฎอนกล่าวถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ว่า เมื่อสมัยที่ผ่านมา ตนไม่ได้เป็น สส. ได้เกาะติดร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สนใจติดตาม ความเคยชินที่เคยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนในพื้นที่จินตนาการไม่ออกว่ากฎหมายไทยจะสามารถปกครองได้อย่างชอบธรรมมากกว่านี้หรือไม่ หรือหลักนิติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร
นี่จึงเป็นโอกาสของรัฐสภาไทยในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐไทย ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการปฏิบัติ ได้รับการเคารพยอมรับในตัวตนของตัวเอง และสิทธิเสรีภาพที่ควรมี
นอกจากนี้ สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเฉพาะในพรรครัฐบาลมีถึง 12 คน จาก 13 เขตเลือกตั้ง คาดหวังว่าจะทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นฉันทามติร่วมกัน เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศต่อไป
บทความที่น่าสนใจ
- เสรีพิศุทธ์ ขอก้าวไกลเสียสละ เปิดทางเพื่อไทยตั้ง รบ.เต็มที่ ให้โอกาสเขียนเอ็มโอยูใหม่
- ส.ส.ก้าวไกล ไม่รอลุ้น รบ.ใหม่ เข้าชื่อแล้ว เสนอญัตติตั้ง กมธ. ปาตานี ถกเถียงสันติภาพจริงจัง
- วันนอร์ เดือดจัด ส.ส.ก้าวไกล หลังตัดบทโรมอภิปรายทบทวนมติ ทำประท้วงวุ่น ไม่เป็นกลาง
- ‘ส.ว.เฉลิมชัย’ เล่านาทีเข้าช่วย ส.ส.ก้าวไกล ปลื้มใจ ทำงานร่วม ‘หมอโอชิษฐ์’ ศิษย์ มศว. ช่วยชีวิตผู้ป่วย
- สรุป MOU ก้าวไกล 23 ข้อ
- ด่วน! "พิธา" ลาออกหัวหน้าพรรคก้าวไกล
- ส.ว. ทยอยเท ‘พิธา’ ไม่โหวตเป็นนายกฯ แล้ว เสียงไม่ถึง 376
- พิธา โพสต์แล้ว ประเทศไทยจะไม่มีวันกลับไปสู่จุดเดิมอีก ปลุก ต่อสู้ร่วมกันต่อไป
- ด่วน! ส.ส.ก้าวไกล มีมติเอกฉันท์ ไม่โหวตแคนดิเดตเพื่อไทย ชี้ตั้ง รบ.ข้ามขั้ว ไม่ขอยุ่งด้วย
- สมชัย ชี้ พท.สลัดก้าวไกล ทุ่งลาเวนเดอร์กลายเป็นนรก‘ยุทธพร’แนะเร่งฟื้นฟูความน่าเชื่อถือ