สสก้าวไกล ไม่รอลุ้น รบใหม่ เข้าชื่อแล้ว เสนอญัตติตั้ง กมธ ปาตานี ถกเถียงสันติภาพจริงจัง
ส.ส.ก้าวไกล ไม่รอลุ้น รบ.ใหม่ เข้าชื่อแล้ว เสนอญัตติตั้ง กมธ. ปาตานี ถกเถียงสันติภาพจริงจัง
ส.ส.ก้าวไกล ไม่รอลุ้นรบ.ใหม่ เข้าชื่อแล้ว เสนอญัตติตั้งกมธ.ปาตานี ถกเถียงกระบวนสันติภาพอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเผยถึงความคืบหน้าในการเสนอญัตติ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามที่พรรคก้าวไกล ได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ทำงานต่อไม่รอแล้ว — สันติภาพและความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชนพลเรือนมือเปล่าด้วยนะครับ วันนี้ที่สภาฯ มีมูฟสำคัญเกี่ยวกับ สันติภาพ ในชายแดนใต้/ปาตานี เรื่องแรกคือ การริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าเรื่องการสร้างสันติภาพ ตอนนี้ลงนาม โดยส.ส.ก้าวไกล รวม 30 คนแล้ว (ต้องการอย่างต่ำ 20 มีคนที่ลงไม่ทันด้วย ต้องขออภัยด้วย)
ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกล สัญญาเอาไว้กับประชาชนครับ วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเผชิญหน้าและรับมือกับความขัดแย้งในชายแดนใต้มาตลอดหลายสิบปีนั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง นั่นคือการลดบทบาทของกองทัพลง และเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน พื้นที่ของสภาฯ เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงเสียงที่แตกต่างหลากหลายมาถกเถียงเรื่องสำคัญๆได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาอำนาจรัฐ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องระดับชาติ การมอบหมายให้อยู่ภายใต้กรอบคิดและการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงชนิดพิเศษอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอแล้วครับ เราต้องการทิศทางที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างมากกว่านั้น
เพื่อไม่ให้ทิ้งระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป
ที่จริงแล้ว การยุบ กอ.รมน. ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลแค่เรื่องสันติภาพในดินแดนใต้สุดเท่านั้น แม้ในช่วงการฟื้นตัวก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 จะอิงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่นั่น ปัญหาของหน่วยงานรัฐซ้อนรัฐ นี้ปรากฎอยู่ทั่วทั้งประเทศ การแทรกแซงเข้าไปในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน มองหาภัยคุกคามและข้าศึกอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาวครับ
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกฎหมาย 5 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ละเรื่องนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักการควบคุมกองทัพด้วยรัฐบาลพลเรือนแทบทั้งสิ้นครับ
ชวนทุกท่านติดตาม และถกเถียงถึงพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในรัฐสภาไทยอย่างใกล้ชิดครับ
ส่วนโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องลุ้นกัน แต่ฝั่งนิติบัญญัติไม่รอแล้วนะครับ”
ที่มา : https://www.matichon.co.th/