วันนอร์ เดือดจัด สสก้าวไกล หลังตัดบทโรมอภิปรายทบทวนมติ ทำประท้วงวุ่น ไม่เป็นกลาง
วันนอร์ เดือดจัด ส.ส.ก้าวไกล หลังตัดบทโรมอภิปรายทบทวนมติ ทำประท้วงวุ่น ไม่เป็นกลาง
‘โรม’ โวยถูกถอนญัตติทบทวนมติเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ ด้าน ‘วันนอร์’ เดือด ปะทะอารมณ์ ส.ส.ก้าวไกล สุดท้ายใช้อำนาจสั่งไม่สมควรให้ทบทวน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ลุกขึ้นทักท้วงกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่มีการบรรจุญัตติของตนเองที่ค้างอยู่ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 กรณีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่
โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า เหตุใดไม่บรรจุญัตติการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพื่อให้มีการตีความให้เกิดความชัดเจน การอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อ 151 ว่ามติใดที่ประชุมมีความเห็นเป็นเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถทบทวนไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องถือตามคำวินิจฉัยตลอดไป โดยไม่สามารถทบทวนได้ แต่หากรัฐสภาจะทบทวนสิ่งที่เคยวินิจฉัยไปย่อมทำได้ เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษาตัวเอง รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีให้เลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอมา แม้จะเสนอชื่อใครไปแล้ว ถ้าลงมติไม่ผ่าน ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดตอีกต่อไป ความเป็นแคนดิเดตยังมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูก
“พวกท่านอาจไม่อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่าถึงขั้นเผาบ้านเพื่อไล่หนูตัวเดียว เราจะวางบรรทัดฐานกันถึงขนาดนั้นเลยใช่ไหม” นายรังสิมันต์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ได้ตัดบทขอให้นายรังสิมันต์หยุดอภิปรายเพราะพูดมานานแล้ว ไม่ได้ขัดขวางการอภิปราย แต่นายรังสิมันต์ได้พูดครบประเด็นจนสมาชิกเข้าใจแล้ว ควรพอเท่านี้ อีกทั้งในการประชุมวิป 3 ฝ่ายก็มีการรับรองความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภา บอกว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถทบทวนได้ เพราะเป็นความเห็นเด็ดขาดไปแล้ว ถ้าไปทบทวนอาจเกิดความลังเลได้ ดังนั้น ในฐานะประธานรัฐสภา ขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ใช้อำนาจวินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ที่เสนอด้วยวาจา รวมถึงญัตตินายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่เสนอญัตติคัดค้านญัตตินายรังสิมันต์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม
ปรากฏว่า ส.ส.ก้าวไกลหลายคน ทั้งนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. พยายามโต้แย้งคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ทำให้เสียเวลาไปร่วม 30 นาที โดยเฉพาะนายธีรัจชัยกล่าวว่า ประธานรัฐสภาวางตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ไม่พอใจ กล่าวตอบโต้ด้วยสีหน้าน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ทันทีว่า ขอให้นายธีรัจชัยถอนคำพูดว่าตนรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอนคำพูดจะไม่อนุญาตให้พูดต่อ เพราะเป็นการกล่าวหาตนอย่างรุนแรงว่าตนรู้เห็นเป็นใจ จะมากล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากได้อย่างไร เพราะเสียงข้างมากลงมตินั้น ไม่รู้ว่าเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไร ด้วยความสัตย์จริง ตนไม่รู้เลยว่าเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไร ตนยังนึกด้วยว่าเสียงข้างมากจะไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำไป เมื่อมีคนเสนอเข้ามาก็ต้องพิจารณาตามนั้น นายธีรัจชัยต้องเข้าใจ เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและซึ่งกันและกัน ตนซื่อสัตย์ต่อตนเอง ถ้าไม่ถอน ตนไม่ให้พูด ขอให้นั่งลง
แต่นายธีรัจชัยพยายามจะพูดต่อ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า “ขอให้นั่งลง จะนั่งลงไหม จะนั่งลงไหม จะนั่งลงหรือเปล่า คุณกล่าวหาคุณไม่ถอนไม่ได้ คำสั่งของประธานถือว่าเด็ดขาด” ทำให้นายธีรัจชัยมีท่าทีอ่อนลง จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ได้ใช้อำนาจประธานสั่งว่าไม่สมควรให้มีการทบทวน และให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไป
ที่มา : https://www.matichon.co.th/