สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ผู้นำอิสลาม ทาจิกิสถาน ถูกบีบหนัก ไม่ทำตามคำสั่งไล่ออก
ถึงรัฐธรรมนูญของทาจิกิสถาน จะระบุอย่างชัดเจนถึงการแบ่งแยกระหว่าง ศาสนาและการบริหารรัฐ แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่รัฐทาจิกิสถานได้เพิกเฉยต่อหลักการนี้ และบรรดาผู้มีตำแหน่งในศาสนาอิสลามก็แสดงให้เห็นว่า มีความเกี่ยวข้อง ผูกพันกับฝ่ายบริหารรัฐด้วย
ตัวอย่างล่าสุด ของการร่วมมือกันระหว่างรัฐและฝ่ายศาสนา คือ การที่อุละมะอฺในเขตทางตอนเหนือช่วยสร้างอาคารสาขาให้กับพรรครัฐบาล (NDPT) สื่อวิทยุ Radio Ozodi รายงานเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า จะมีการสร้างอาคาร 2 ชั้น ในเขต Mastchoh มูลค่าราว 50,000 ดอลล่าร์
โดยอิหม่ามมีส่วนจัดหาเงินค่าก่อสร้างส่วนหนึ่งโดยรวบรวมจากการบริจาค แต่เงินส่วนมากมาจากการบริจาคของสมาชิก และนักธุรกิจในท้องถิ่น
ประเทศทาจิกิสถาน มีอิหม่ามทั้งหมดราว 4,000 คน ตำแหน่งของพวกเขาอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาล และอาจจะถูกคัดออกเมื่อใดก็ได้
นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา คณะกรรมการกิจการศาสนา ได้เริ่มให้บรรดาผู้นำศาสนายื่นใบสมัครเพื่อขอการรับรองซ้ำ
ทั้งนี้ เพื่อที่ทางรัฐบาลจะตรวจสอบและทำทะเบียนจ่ายเงินค่าตอบแทนในตำแหน่งอิหม่าม โดยคาดหวังเพียงว่า บรรดาอิหม่ามจะเชื่อฟังและทำตามที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อิหม่ามจำนวนมากถูกไล่ออก เพราะเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกรอบที่กำหนด ส่วนหนึ่งต้องถูกฟ้องร้องในคดีอาญา
ข้อหามีแนวคิดอิสลามแบบอนุรักษ์ หรือหัวรุนแรงเกินไป บางส่วนถูกไล่ออกเพราะไม่เข้าใจกฎหมายและถูกกล่าวหาว่า ไม่รักชาติ
เมื่อปีที่ผ่านมา อิหม่ามนากิบคอน คอริเวฟ วัย 27 ปี แห่งเมืองเพนจิเค้นท์ ถูกคณะกรรมการกิจการศาสนาไล่ออก เพราะเขาไม่รู้จักเนื้อร้องของเพลงชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ อ้างว่า เขาควรจะต้องร้องเพลงชาติได้ และรู้ว่า สัญลักษณ์ของประเทศคืออะไร เพราะรับเงินค่าจ้างจากรัฐเช่นเดียวกับลูกจ้างรัฐทั่ว ๆ ไป
ในปี 2018 คณะกรรมการกิจการศาสนา เริ่มบังคับให้บรรดาอุละมะอฺ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไปดูหนัง ดูละคร และไปท่องเที่ยวยังโบราณสถานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ
ที่มา: www.eurasianet.org