‘เสรี’ อัด ไม่ใช่หน้าที่ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ส่งศาล รธน สั่งชะลอโหวตนายกฯ-ตรวจสอบมติรัฐสภา
‘เสรี’ อัด ไม่ใช่หน้าที่ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ส่งศาล รธน. สั่งชะลอโหวตนายกฯ-ตรวจสอบมติรัฐสภา
‘เสรี’ อัด ไม่ใช่หน้าที่ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ส่งศาล รธน.สั่งชะลอโหวตนายกฯ-ตรวจสอบมติรัฐสภา ชี้ มีหน้าที่แก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่ใช่ทำตามกระแส ด้าน ‘รองเลขาผู้ตรวจฯ’ แจงทันทียันส่งศาล รธน. เพราะองค์ประกอบครบถ้วน ส่วนการวินิจฉัยอยู่ที่ศาล
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยในระหว่างการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภานั้น
โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า รายงานดังกล่าวเจตนาเพื่อให้วุฒิสภาได้ทราบว่า ในปีที่ผ่านๆมาใช้จ่ายเงินกันอย่างไร ใช้จ่ายแล้วคุ้มค่า มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งตนพยายามดูรายงานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของรายงานรายได้ รายจ่ายว่าได้เงินไปเท่าไหร่ จ่ายเงินไปเท่าไหร่ แต่รายงานที่จะให้เห็นว่าในการทำหน้าที่หรือการทำงานของสำนักงานผู้ตรวจการฯ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน หรือมีผลงานอย่างไร ซึ่งมีการอ้างอิงถึง แต่เนื้อหาไม่ปรากฎให้ชัดเจน อย่างน้อยก็ควรให้เห็นว่ามีผลงานอะไร เป็นที่ประจักษ์ หรือมีประสิทธิภาพ และเมื่อดูอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจการฯ ตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มาตรา 228-231 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน
นายเสรีกล่าวต่อว่า ตนมีข้อสงสัยว่าทำงานแล้วมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตัวอย่างเมื่อสองวันที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ส่งเรื่องที่รัฐสภาพิจารณาลงมติในเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ จึงทำให้เห็นว่าการกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้แล้ว ท่านทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เรื่องที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ไม่เป็นไร คงเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ตนไม่ก้าวล่วงอำนาจและดุลพินิจศาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะทำต่อไปนั้น เราจ่ายเงินงบประมาณไปเป็น 100 ล้านบาท แต่มีประสิทธิภาพหรือไม่
“ผมเป็นห่วงการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เขาตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งผมเป็น สสร.40 กำหนดให้มีองค์กรเกิดขึ้น 7 องค์กร ผู้ตรวจการฯ ก็เป็นองค์กรหนึ่ง ที่คิดว่าจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองในหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นในอนาคตถ้าจะจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ให้สำนักงานผู้ตรวจการฯ ผมอยากมองว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่ทำตามกระแส ไม่ใช่ทำตามที่มีคนมายื่นคำร้อง 17 เรื่อง กลายเป็นกระแสกดดันผู้ตรวจการฯ ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจบางทีในยุคปัจจุบัน คนมันกลัวทัวร์ลงกันเยอะ หน่วยงานทั้งหลายกลัวทัวร์ลง ผมคิดว่าแรงกดดันเหล่านี้ มันมีอยู่ในสังคมไทย” นายเสรีกล่าว
นายเสรีกล่าวต่อว่า การทำงานของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานต้องมีมาตรฐาน เพราะจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการมีมาตรฐานนั้นต้องยึดมั่นในรัฐธรรมนูญที่ได้แบ่งอำนาจหน้าที่ไว้แล้วว่ามีนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เมื่อฝ่ายนติบัญญัติได้ทำหน้าที่ในสภาฯ ใช้ดุลพินิจของสมาชิกในปัจจุบันทำงานร่วมกันมี 750 คน การทำหน้าที่ในรัฐสภาถือเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีดุลถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นสำนักงานผู้ตรวจการฯ มีความชัดเจนต้องแก้ปัญหาใน 2-3 เรื่องตามบทบัญญัติไว้ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือมติรัฐสภา มิฉะนั้นเมื่อท่านได้งบประมาณไป แล้วใช้อำนาจในทางที่เกิดปัญหาต่อบ้านเมืองได้ ดังนั้นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติเมื่อตัดสินแล้วต้องยุติในรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าสภาฯตัดสินวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้วส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรู้ความสามารถ ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ อย่างไร
“ผมก็เป็นห่วงว่า หากต่อไปรัฐสภาทำงานไปแล้ว เกิดมีคนไม่พอใจหรือนักการเมืองด้วยกันเองไม่พอใจ ยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่มีคนร้องเยอะๆ กลัวทัวร์ลงก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ผมว่าเรื่องนี้ป็นสิ่งที่เราต้องคุยกัน เพราะมันเกี่ยวเชื่อมโยงกับงบประมาณที่กำหนดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา ดังนั้นในการทำหน้าที่ต้องมีกรอบพอสมควร กับการที่จะดำเนินการ แต่ปรากฏว่าผู้ตรวจการแผ่นดินขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภา งดหรือหยุดการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครั้งที่ 3 มันเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพราะมีคนมาร้อง ถ้าเป็นเเรื่องตามสิทธิเสรีภาพตามที่ถูกละเมิดก็สามารถยื่นได้ แต่ไปขอให้รัฐสภางดการประชุมเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาล ทั้งๆ ที่บ้านเมืองต้องมีนายกรัฐมนตรีต้องมีรัฐบาล เห็นหรือยังว่าบ้านเมืองเสียหายแค่ไหน ผมไม่ได้ห้ามการใช้ดุลยพินิจว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่กำลังจำติงว่าการใช้อำนาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไร สิ่งที่ห้ามมิให้รัฐสภาประชุม หรือทำหน้าที่ต่อ อันนี้ไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ผมพูดเพื่ออนาคตจะได้ไม่เกิดปัญหาอีก” นายเสรีกล่าว
ขณะที่นายฑิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงทันทีว่า ได้มีการประเมินตัวชี้วัดเรื่องการทำงานว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียนซึ่งผลตอบรับพอใจกว่า 80% ขณะที่สถาบันพระปกเกล้าสำรวจความเชื่อมั่นองค์กรอิสระพบว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงสุด ในองค์กรอิสระคือ 62% เท่ากับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด
นายฑิฆัมพรกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่นายเสรีระบุถึงเรื่องการส่งข้อบังคับการประชุมที่ 41 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ใช้ข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ และปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คำร้องที่ยื่นมาองค์ประกอบครบถ้วนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป
ส่วนข้อเสนอที่ให้ชะลอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายฑิฆัมพรกล่าวว่า หากข้อบังคับที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหากเลือกนายกรัฐมนตรีไปก็จะเกิดผลเสียต่อรัฐธรรมนูญตามมา จึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย และเรื่องนี้เป็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด
ด้านนายเสรีลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้งว่า สถาบันพระปกเกล้า ประเมินตัวเองได้ 100% เต็ม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินยังสู้ไม่ได้ ส่วนการที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปนั้น ตนมองว่าไม่สามารถทำได้ และยังทำให้มองว่าสิ่งที่ส่งไปเป็นเรื่องข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นเรื่องจริงทำให้สาธารณชนสับสน เพราะไม่ได้ลงมติถึงข้อบังคับและรัฐธรรมนูญว่าอะไรใหญ่กว่ากัน และผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เกี่ยวกับการเสนอชื่อนายกฯซ้ำได้ แต่ต้องมีสมาชิกรองรับ 2 ใน 3 อีกทั้งประธานรัฐสภา ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่ทำหน้าที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว
ที่มา : https://www.matichon.co.th/