เริ่มแล้ว! โหวตนายกฯ ‘วันนอร์’ ย้ำ ทำหน้าที่เป็นกลาง ‘ชลน่าน’ ลุกเสนอ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกฯ ที่ประชุมรับรองแล้ว-ไร้พรรคชงชื่อแข่ง
ชลน่าน ลุกเสนอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ที่ประชุมรับรองแล้ว-ไร้พรรคชงชื่อแข่ง
เริ่มแล้ว! โหวตนายกฯ ‘วันนอร์’ ย้ำ ทำหน้าที่เป็นกลาง ‘ชลน่าน’ ลุกเสนอ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกฯ ที่ประชุมรับรองแล้ว-ไร้พรรคชงชื่อแข่ง
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 กรกฎาคม ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยก่อนเข้าสู่วาระ ประธานรัฐสภาแจ้งต่อที่ประชุมว่า ตนได้มาทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมรัฐสภาในวันนี้เป็นครั้งแรก ตนจะทำหน้าที่ในฐานะประธานรัฐสภาและประธานที่ประชุมอย่างเป็นกลาง และจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ เกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐสภาของเรา อย่างไรก็ตามการปฏิบัติหน้าที่ของตนอาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง ตนพร้อมที่จะรับความคิดเห็นการติชมของสมาชิกตลอดเวลา เพราะไม่มีผู้ใดบกพร่องเลยเพราะเราเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แต่การประชาชนของเราจะมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ เราคงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่จะทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพ
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ขอให้สมาชิกทุกคนระมัดระวังการกล่าวถ้อยคำหรือแสดงความคิดเห็นหากถ้อยคำนั้นจะปรากฏนอกสภากระทบต่อบุคคลภายนอกหรือองค์กรภายนอก ซึ่งจะเป็นความผิดทางอาญา หรือละเมิดสิทธิทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิก ซึ่งไม่สามารถคุ้มครองสิทธินั้นได้ เพราะเรามีการถ่ายทอดการประชุม และขอแจงให้ทราบว่าจากข้อตกลงร่วมกัน สำหรับบุคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ได้อย่างทั่วถึง แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจบุคคล โดยกำหนดเวลาดังนี้ วุฒิสภาใช้เวลา 2 ชั่วโมง ส.ส.ทั้ง 18 พรรค ใช้เวลา 4 ชั่วโมง โดยให้อภิปรายเป็นรายพรรคการเมือง แบ่งเป็น 8 พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง และกำหนดว่าการอภิปรายควรจะยุติลง ก่อนเวลา 17.00 น. แต่หากไม่มีอะไรมากการอภิปรายก็น่าจะจบก่อนเวลา 17.00 น. ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็จะพิจารณาไปตามขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำนวนสมาชิกรัฐสภามี 749 เสียง เนื่องจากมี ส.ว.ลาออก 1 คน ดังนั้น จำนวนเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี ต้องได้ 375 เสียง
จากนั้น เวลา 10.00 น. เข้าสู่การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีมาตรา 272 รัฐธรรมนูญมาตรา 159 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อ 136 เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 160 และถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ขอเสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
หลังจากที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดให้แสดงตน มี ส.ส.ที่แสดงตนด้วยวาจา เป็นจำนวนมาก ประธานรัฐสภา จึงให้แสดงตนใหม่อีกครั้งเพื่อรับรองการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แสดงตนรับรองทั้งสิ้น 298 คน ถือว่า มีเสียงรับรองครบ
ต่อมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่สนับสนุนนายกฯ ที่มาจากพรรคที่มีนโยบายแก้ไข ม.112 และเรียกร้องให้ 7 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าว หากรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมเป็นฝ่ายค้าน และจะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่งขัน
“วันนี้พรรคก้าวไกล หลุดคำเดียวว่าจะไม่แก้ ม.112 พรรคภูมิใจไทยจะโหวตนายกฯ ให้ และไม่ร่วมรัฐบาลด้วย”
“เขาบอกว่า เป็นฝั่งประชาธิปไตย แล้วฝั่งผมมาจากไหน ผมก็เลือกตั้งมาเหมือนกัน ฝั่งโจรหรือ เป็นโจรก็ยอม แต่เป็นโจรที่รักชาติ รักสถาบัน เป็นโจรที่ปกป้องบ้านเมืองนี้ และปกป้องสถาบัน ด้วยหัวใจด้วยเลือดเนื้อของผม” นายชาดาระบุ
ที่มา : https://www.matichon.co.th/