ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย


ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย 

ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ (Dato' Sri Ismail Sabri Yaakob) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่าง 24-26 ก.พ. 2565 เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน

อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียตั้งแต่ ส.ค. ปีที่แล้ว และเคยมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยตั้งแต่เดือน ธ.ค. แต่ต้องเลื่อนออกไป

ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย

มาเลเซียเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน ในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพรรคอัมโน พรรคการเมืองสำคัญกลับมาครองอำนาจเป็นรัฐบาลมาเลเซียได้อีกครั้ง หลังจากที่พ่ายการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 61 ปี เมื่อปี 2018

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดหารือข้อราชการกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 ก.พ. นี้

เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศระบุว่า การเยือนไทยครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ผู้นำของประเทศทั้งสองจะหารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านให้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือแนวทางเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอาเซียนและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ

ประวัติย่อ นายกฯ มาเลเซีย

อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เขาดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคอัมโน (UMNO) และเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในรัฐบาลชุดก่อน

เขาเป็นนายกรัฐนตรีมาเลเซียคนที่ 3 นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 โดยดำรงตำแหน่งต่อจากนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง หลังจากสูญเสียเสียงสนับสนุนข้างมากในรัฐสภา

ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย

ในปี 2018 มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมานาน 22 ปี กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากร่วมมือกับหลายพรรคการเมืองคว้าชัยการเลือกตั้งเหนือพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมายาวนาน 61 ปีได้สำเร็จ ทำให้นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีที่พัวพันกับการทุจริตกองทุน 1MDB ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นผู้นำรัฐบาลผสมปากาตันฮาราปัน (Pakatan Harapan - PH) นาน 1 ปี 10 เดือนก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2020 โดยนายมูห์ยิดดิน ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลผสมเปริกาตันเนชันแนล (Perikatan Nasional - PN) ซึ่งรวมถึงพรรคอัมโนด้วย

นายอิซมาอิล ซาบรี ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลผสม PN คนใหม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งไม่มากนัก โดยเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 114 คน จากทั้งหมด 220 คนในสภา เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยมีงานสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซียจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นายอิสมาอิล ซาบรี วัย 61 ปี เป็น ส.ส. จากรัฐปาหัง ดำรงแหน่งมานาน 4 สมัย โดยในสมัยที่พรรคอัมโนเป็นผู้นำรัฐบาล เขาได้เป็นรัฐมนตรีนาน 10 ปี ระหว่างปี 2008-2018 และได้ก้าวขึ้นเป็นรองประธานพรรคอัมโน หลังจากที่ทางพรรคพ่ายการเลือกตั้งในปี 2018 และเขาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในปีต่อมา

แต่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคงในสมัยรัฐบาลผสม PN ภายใต้การนำของนายมูห์ยิดดิน และได้ก้าวขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเดือน ก.ค. 2021

จับตาเปิดพรมแดน

สำนักข่าวเบอร์นามารายงานว่า ดาโตะ โจจี แซมูเอล ทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่จะมีการหารือกันระหว่างการเยือนครั้งนี้ รวมถึงการเปิดพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ความร่วมมือระดับทวิภาคี และการสำรวจโอกาสทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ "จะมีข่าวดีบางอย่าง (เกี่ยวกับการเปิดพรมแดน) กำลังมีการพิจารณาข้อเสนอ 2-3 อย่าง"

ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย

สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซียรายงานว่า ทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยได้เปิดเผยหลังจากเข้าร่วมงานเลี้ยงตรุษจีนของกลุ่ม Kelab Malaysia of Thailand (KMT) ซึ่งเป็นสมาคมชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่า "เจ้าหน้าที่ทางการอาวุโสและคณะกรรมการด้านเทคนิคจะหารือกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง"

นอกจากนี้ นายโจจี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการหารือกันเกี่ยวกับการยอมรับใบรับรองการรับวัคซีนของทั้งสองประเทศด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายณัฐภาณุ นพคุณ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยกลับวางแผนที่จะกลับมาเปิดพรมแดนไทย-มาเลเซียในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทย โดยช่วงก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเยือนประเทศไทย 4.1 ล้านคน

เขากล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยว ได้รับคำสั่งให้เตรียมมาตรการบรรเทาการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา และสตูล

เจรจาสันติภาพ

ขณะที่ประเด็นด้านความมั่นคงที่น่าจับตามองคือ การที่มาเลเซียเป็นตัวกลางในการจัดเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยได้มีการกลับมาหารือกันต่อเมื่อ 11-12 ม.ค. ที่ผ่านมาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังจากหยุดไปนานเกือบ 2 ปีในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด

ทำความรู้จัก นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนไทย

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เผยแพร่เอกสารข่าวสรุปผลการหารือระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค. ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "3rd Working Group Peace Dialogue Process on Southern Thailand Meeting" ระบุว่า "ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการที่จะยึดถือในการพูดคุยสารัตถะในระยะต่อไปจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.ลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.แสวงหาทางออกทางการเมือง"

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยจะมีบุคคลผู้ประสานงานและคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัวและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

"คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ได้หยิบยกเรื่องการสร้างบรรยากาศที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุย และการใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการให้ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรง อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของทั้งสองฝ่าย" คณะพูดคุยสันติสุขฯ ของไทยระบุ

ที่มา: www.bbc.com

https://hot.muslimthaipost.com/news/40322

อัพเดทล่าสุด