รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แฉข้อมูลการโกงกินภายในบริษัทการบินไทย พบมีความเกี่ยวโยงผู้บริหารระดับสูง
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม และ คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดแถลงข่าวผลการตรวจสอบการขาดทุนของการบินไทย โดยเฉพาะระหว่างปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาทต่อสื่อมวลชน
กรณีการขาดทุนของการบินไทย จนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง หลังพ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการและปัญหาทุจริตบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยกว่า 100 คน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งโต๊ะแถลงผลการตรวจสอบ ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการขาดทุน 62,803 ล้านบาท เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ที่ขาดทุนถึง 21,450 ล้านบาท หลังซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เป็นปัญหาขาดทุนทุกเส้นทางบินตั้งแต่จัดซื้อ / และยังไม่ให้ความสำคัญกับมติคณะรัฐมนตรี ปัญหาการจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์ ให้พนักงานการบินไทยเพื่อเอื้อจัดซื้อเครื่องยนต์ / และมีข้อมูลการจ่ายเงินสินบน 2,652 ล้านบาทให้นักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานงาน
ถัดมาในปี 2560 - 2562 มีการส่อทุจริตอีกจำนวนมาก เช่น ค่า OT พบพนักงานทำได้สูงสุด 3,354 ชั่วโมงต่อปี หรือเท่ากับมีวันทำโอที 419 วัน แต่หนึ่งปีมีเพียง 365 วัน การจัดหาเครื่องบินแบบเดียวกัน 6 ลำ แต่กลับมีส่วนต่างราคา 589 ล้าน มีรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินพิเศษ 200,000 บาทต่อเดือน ผ่านไป 9 เดือน ได้เงินเพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างเป็นแนวปฎิบัติกันมา พร้อมอนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวให้อดีตผู้ที่เคยรักษาการ พร้อมรถประจำตำแหน่ง คนขับ และค่าน้ำมัน รวมถึงการขายตั๋ว ที่มีการเอื้อให้กับดีลเลอร์ 3-4 ราย มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาให้เอื้อประโยชน์ค่าคอมมิชชันกันเอง
จากการทำงานตรวจสอบปัญหาขาดทุนของ การบินไทย ระหว่างปี 2560-2562 รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท พบ 9 สาเหตุสำคัญของปัญหาการขาดทุน ดังนี้
สาเหตุที่ 1 การจัดหาเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787-800 จำนวน 6 ลำ มูลค่ารวม 28,266.9 ล้านบาท และโบอิ้ง 787-900 จำนวน 2 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน ซึ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินเพียงแค่รุ่นเดียว และมีจำนวนเครื่องบินเพียง 8 ลำ ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและไม่มีการวางแผนการบินที่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน การทำสัญญาแบบเช่าดำเนินงานก็มีความหละหลวม ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 3,927.67 ล้านบาท และไม่มีการรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือผลการสอบสวนหาผู้กระทำผิดให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
สาเหตุที่ 2 การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในช่วงปี 2560 – 2562 คณะทำงานฯ พบความเสียหายทั้งสัญญาที่ทำไปแล้ว การส่งซ่อม และการต่อสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย ทำให้ การบินไทย เสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท
สาเหตุที่ 3 การบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่แบบเช่าดำเนินงานจำนวน 3 ลำ ส่งมอบปี 2563 วงเงินกว่า 16,604 ล้านบาท ในระหว่างที่บริษัทได้ทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินปี 2562-2569 จำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท
ถ้าหากพิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทในปี 2561 แล้ว หากจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีการเช่าดำเนินงานจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าวิธีเช่าซื้อถึง 5% นั่นหมายถึงหากกู้เงิน 100,000 ล้านบาท บริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาท
สาเหตุที่ 4 การจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงานรุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ มีค่าใช้จ่ายถึง 1,458.96 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลปี 2562 บริษัทมีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน 42 ลำ ช่วงปี 2563 – 2573 จำนวนเงินกว่า 108,818.64 ล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายในการชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินช่วง 10 ปีสูงถึงประมาณ 30,638.16 ล้านบาท
สาเหตุที่ 5 ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนพนักงานลดลง ทั้งฝ่ายช่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน
โดยในปี 2562 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,081 บาทต่อใบ ค่าใช้จ่ายแรงงานภายนอก 2,125 ล้านบาท มีค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างสูงถึง 2,022.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีข้อมูลพบว่าค่าล่วงเวลา (OT) ฝ่ายช่างที่สูงมาก เนื่องจากมีการส่อทุจริต ทำ OT เกินกว่าจำนวนวันที่มีอยู่จริง โดยมีผู้ทำ OT สูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมง เป็นเงินค่า OT ถึงปีละ 2,958,035 บาท หรือเดือนละ 246,503 บาทต่อเดือน ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวมีรายได้ต่อปีเพียง 878,436 บาทหรือเดือนละ 73,203 บาท แต่ได้รับ OT มากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่ากว่า
หากนำชั่วโมง OT ซึ่งกำหนดไว้วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หารด้วย 3,354 ชั่วโมงจะได้วันทำ OT ถึง 419 วัน ใน 1 ปี แต่ว่า 1 ปีมีเพียง 365 วัน
โดยเกณฑ์มาตรฐานคนหนึ่งไม่ควรทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ในปี 2562 ฝ่ายช่างมีพนักงานทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ถึง 567 คน วงเงินค่าใช้จ่ายมากถึง 603.123 ล้านบาท
สาเหตุที่ 6 ช่วง 3 ปีคือ 2560 ถึง 2562 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณประมาณการ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก
โดยในปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่ การบินไทย มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสารฯ 149,000 ล้านบาท
ในปีดังกล่าว สาเหตุสำคัญที่ได้จากผลการสอบสวน มีการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งในรูปของค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และมีการกำหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทำให้ Agent เพียง 3 – 4 รายได้รับประโยชน์
กอปรกับผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่งรายได้ จำนวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชี กองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์ และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ
สาเหตุที่ 7 การบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ส่อเอื้อให้กับตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาท
กอปรกับมีการสรรหารองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แบบสัญญาจ้างมีกำหนดเวลา 4 ปี จำนวน 2 ราย ที่มาจากพนักงานบริษัท ซึ่งเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง บุคคลใกล้ชิด และยังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การสรรหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับการสรรหา
สาเหตุที่ 8 การบินไทย ส่อเอื้อประโยชน์ในการขยายอายุสัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินการขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับผู้รับสิทธิรายเดิมอีก 9 เดือน แทนการเลือกแข่งขันประมูลแบบสัมปทาน 3 ปี อ้างมีระยะเวลากระชั้นชิด ทำให้ การบินไทย เสียหายเป็นเงินกว่า 655 ล้านบาท
สาเหตุที่ 9 การบริหารจัดการสายการบินไทยสมายล์ ที่บริษัทถือหุ้น 100% นับตั้งแต่เริ่มทำการบินตั้งแต่ เมษายน 2557 ก็ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 มียอดขาดทุนสะสมไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และ การบินไทย ก็จัดส่งผู้บริหารของบริษัทเข้าไปบริหารงานในตำแหน่งสำคัญๆ มาโดยตลอด
การบินไทย ผู้ถือหุ้น
ส่ง ป.ป.ช. เชือดปม ทุจริต “การบินไทย”
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พนักงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ส่อแววทุจริตมีทั้งผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วและยังทำงานอยู่ คณะทำงานฯ มีชื่อตัวละครหมด แต่ไม่สามารถเปิดรายชื่อได้ เพราะไม่ใช้พนักงานสอบสวน จึงไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
หลังจากนี้ตนจะลงนามหนังสือเพื่อส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป โดยเชื่อว่า หลักฐานที่พบจะสามารถเอาผิดได้ และคาดหวังว่า การบินไทย จะเดินไปข้างหน้าได้ ก็ต้องกวาดบ้านให้สะอาด เจ้าหนี้เชื่อถือ
จากเอกสารที่เราสอบทั้งหมดและยังมีอีกเยอะ ข้อมูลเหล่านี้จะส่งถึง ป.ป.ช. จะเป็นการวัดใจ ป.ป.ช. ทันทีว่า จะมีความจริงจังจริงใจที่จะทำต่อหรือไม่ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในขณะนี้เกือบ 50% กองทุนวายุภักษ์ และที่สำคัญที่สุดคือ พี่น้องประชาชนอีก 30%
สำหรับกรณีที่มีการตั้งกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเองนั้น ไม่มีระเบียบกฎหมายรองรับนั้น เบื้องต้นมี “ผู้บริหาร 3 คน” เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวและมีเลขที่บัญชีธนาคารที่ชัดเจน โดยนายชาญเทพ หัวหน้าคณะทำงานฯ ระบุว่า ไม่ทราบว่า เงินในกองทุนจ่ายให้ใครบ้าง
พล.ต.ท.สาโรช นิ่มเจริญ หัวหน้าคณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สายการพาณิชย์ เปิดเผยว่า กองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์มีจุดเริ่มต้นมาจาก พนักงานการบินไทยคนหนึ่งไม่สบาย แล้วไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ จึงมีแนวคิดว่าควรตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวมาสนับสนุนพนักงานที่ไม่สามารถเบิกเงินได้ โดยไม่มีระเบียบร้องรับ
ต่อมากองทุนดังกล่าวได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของ การบินไทย แม้แต่เส้นทางที่ขาดทุน สถานีปลายทางก็ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางให้เกิดการรั่วไหล ขณะเดียวกันคณะทำงานฯ พบว่า จะมีเงินไหลเวียนในกองทุนดังกล่าวหลายสิบล้านบาทต่อปี