ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90 ครอบคลุมทั้งเกษตรกรรม พื้นที่รกร้าง และบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือยามเกิดวิกฤตโควิด 19 ใครต้องเสียภาษีที่ดินเท่าไร ดูเลย
วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เดลินิวส์ รายงานว่า น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียในปี 2563 ดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับงดเว้นภาษีตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 กำหนดให้ 3 ปีแรก (2563-2565) ได้รับการงดเว้นภาษี
- ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเสียภาษี 0.01% ยกตัวอย่างเช่น ราคาประเมินที่ดิน 5 ล้านบาท ปกติจะเสียภาษี 500 บาท แต่เมื่อได้ลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. นี้แล้ว จะเสียภาษีแค่ 50 บาท
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
- กรณีเป็นบ้านหลังหลัก เจ้าของบ้านเป็นบุคคลธรรมดา มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน : จะได้รับการยกเว้นฐานภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท
- กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสำหรับบ้านหลังอื่น : จะได้รับการยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
- สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยหลังอื่น : จะเสียภาษี 0.02% หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท เมื่อได้ลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. นี้แล้ว จะเหลือในอัตรา 0.002% จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย
ยกตัวอย่างเช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม : จากที่คิดในอัตรา 0.3% จะเปลี่ยนมาเป็นอัตรา 0.03% ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. นี้ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เท่านั้น
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
อัตราการชำระภาษีเหมือนกันกับข้อ 3.
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีตามกฎหมายดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2563 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้จัดเก็บรายได้ลดลง 39,420 ล้านบาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 2739020 ต่อ 3511 3526 3548 3521
เนื้อหา: เดลินิวส์