เป็นอีกเหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย
เหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 หรือที่ได้รับการขนานนามว่า 'เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ' ตั้งแต่เข้าร่วมการทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีการก่อตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้น โดยการนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นรองหัวหน้าคณะ
พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมซึ่งมีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง ได้เตรียมการให้ ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่เนื่องจากเหตุผลบางประการ ทำให้ ณรงค์ วงศ์วรรณ ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ พรรคพันธมิตรทั้ง 5 พรรคคือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 7 เมษายน 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่งได้เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจนลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วจากกลุ่มนักศึกษา กลุ่มประชาชน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ
วันที่ 8 เมษายน 2535 ร.ต. ฉลาด วรฉัตร เริ่มการอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภา และประกาศจะอดอาหารไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
วันที่ 9 เมษายน 2535 พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคที่ไม่สนับสนุนให้คนกลางหรือคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือพรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ได้เปิดการปราศรัยต่อต้านที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ประกาศตัวเป็นแกนนำคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
วันที่ 16 เมษายน 2535 วันนัดประชุมวันแรกของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้าน 4 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ได้พร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรมถึงกับถือตะเกียงเข้าสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 17 เมษายน 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร จัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้สำเร็จ โดยมีรัฐมนตรีหลายคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติยึดอำนาจ โดยอ้างว่ามีการคอร์รัปชันอย่างรุนแรง แต่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้นำเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อความมั่นคงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมเปิดการปราศรัยใหญ่ในจุดต่างๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2535 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และต้องการปิดโอกาสในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนในที่สุดกลายมาเป็นประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วันที่ 4 พฤษภาคม 2535 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศอดอาหารประท้วง และมีประชาชนร่วมอดอาหารประท้วงด้วยจำนวนมาก
วันที่ 6 พฤษภาคม 2535 รัฐบาลแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 โดยถูกโจมตีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนบริเวณหน้ารัฐสภามีประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ต่อมาการประท้วงได้ลุกลามเมื่อมีการย้ายการชุมนุมมาสู่ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลางอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์จนเป็นที่น่าวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น
วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนจากท้องสนามหลวงมุ่งสู่รัฐสภา นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์ เกิดการต่อสู้ปะทะกันอย่างยืดเยื้อยาวนานเป็นระยะเวลา 4 วัน 4 คืน ประชาชนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พล.ต. จำลอง ศรีเมือง รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและประชาชนนับพันคนถูกจับกุมในเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ‘เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ’
วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬสงบลงได้ด้วยพระบารมี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสรับสั่งพร้อมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเลวร้าย
วันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร จึงสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์
อ้างอิง: http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สุจินดา_คราประยูร
ภาพ: BBC ไทย
ที่มา: The Standard