วันนี้ (12 พฤษภาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้มันฝั่งสดเพื่อแปรรูปปีละ 150,000-200,000 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศเฉลี่ยปีละ 100,000-120,000 ตัน หรือร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการใช้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีอัตราความต้องการใช้มันฝรั่งภายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.32 ต่อปี แต่ผลผลิตมันฝรั่งที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.45 ต่อปี สาเหตุมาจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่เพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น อุณหภูมิสูง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบการขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม จำนวน 6,400 ตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เสนอ จากเดิมที่ ครม. เคยมีมติ (27 มีนาคม 2561) กำหนดให้เปิดตลาดนำเข้ามันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปในช่วงปี 2561-2563 มีปริมาณในโควตาปีละ 52,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125
ทั้งนี้ การบริหารการนำเข้าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง คือให้มีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตระหว่างผู้ประกอบการนำเข้ากับเกษตรกร โดยกำหนดราคารับซื้อมันฝรั่งสดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14 บาท ในช่วงฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) และราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม-มิถุนายน)
รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายปริมาณโควตาการนำเข้าดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในช่วงการปลูกมันฝรั่งนอกฤดู (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) ซึ่งผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตในราคาขั้นต่ำตามที่คณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง กำหนด
ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในเรื่องการกำหนดปริมาณโควตานำเข้าในระดับที่เหมาะสมในรอบปีต่อไป ส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม
ที่มา: THE STANDARD