ศบคมีมติเห็นชอบต่อ พรกฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พค2563 และให้คงมาตรการเคอร์ฟิว
ศบค.มีมติเห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2563 และให้คงมาตรการเคอร์ฟิว เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบพรุ่งนี้ (28 เม.ย.)
วันนี้ (27 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์ COVID-19 ว่า วันนี้มีการประชุมใหญ่ ศบค. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ โดยให้แนวทางการผ่อนปรนเป็น 4 ระยะ โดยใช้เวลาทบทวนแต่ละระยะเป็นเวลา 14 วัน และให้มีการประเมินมาตรการต่างๆ
“ต้องย้ำว่าหากเปิดแล้วก็ปิดได้ เพราะไม่อยากให้เกิดการระบาดระลอก 2 หากประเมินว่าตัดสินใจมาตรการต่างๆ แล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
สำหรับผลสัมฤทธิ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศลดลงต่อเนื่อง โดยหลังสำรวจความเห็นประชาชน 40,000 คน เห็นด้วยที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากกว่า 70%
ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติเห็นควรให้พิจารณาขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 พ.ค.2563
นอกจากนี้ยังมี 4 มาตรการตามข้อกำหนดที่ต้องคงไว้ ซึ่งจะเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2563 2.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 3.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว และ 4. งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก
ส่วนแนวทางการผ่อนปรนในมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เน้นทำงานที่บ้านให้คงอยู่ 50% พร้อมให้ทุกคนสวมหน้ากากต่อเนื่อง วัดอุณหภูมิ ล้างมือ เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนในกิจกรรมหรือสถานที่ และมีแอปพลิเคชันติดตามตัว ทั้งนี้การประเมินผล หากดีขึ้นสามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมได้ แต่หากไม่ดีขึ้นก็สามารถระงับมาตรการดังกล่าวได้ทันที
แบ่ง 4 ประเภทผ่อนปรนธุรกิจ
โฆษก ศบค.ระบุอีกว่า ศบค.ได้เสนอให้ผ่อนปรนในธุรกิจต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ "สีขาว" เป็นธุรกิจจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่สามารถควบคุมได้ หรือสวนสาธารณะ "สีเขียว" เป็นสถานที่ประกอบการขนาดเล็ก หรือสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง "สีเหลือง" เป็นสถานประกอบการพื้นที่ปิด ติดแอร์ และ "สีแดง" เช่น สนามมวย สถานที่แหล่งบันเทิงที่มีการแออัด และมีความเสี่ยงสูง
“นายกฯ เห็นชอบในหลักการแล้วว่าควรแบ่งเกณฑ์ให้ชัดเจนและกำหนดเวลา แต่หวังว่าเมื่อเปิดได้ก็อยากให้เปิดได้ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โดยให้สภาพัฒน์ฯ ไปพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากทันจะเสนอใน ครม.พรุ่งนี้ (28 เม.ย.)”
พร้อมยืนยันว่ามาตรการต่างๆ มีการพูดคุยกันอย่างละเอียด โดยนำข้อมูลทั้งด้านวิชาการ สาธารณสุข การจัดกิจกรรม แอปพลิเคชัน รวมถึงการติดตามโดยใช้กล้อง CCTV ซึ่งนายกฯ ไม่ได้เร่งรีบ แต่ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบและให้เกิดความมั่นใจ
ส่วนกรณีการผ่อนปรนสถานประกอบการให้เปิดทำการ สภาพัฒน์ฯ ได้เสนอเกี่ยวกับมาตรการการผ่อนปรนต่างๆ ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ยังต้องไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนและดูเรื่องผลกระทบ ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนจาก ครม.ก่อน