สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 8,929 คน พบมากกว่า 80% ของทุกกลุ่มอาชีพไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพราะติดเงื่อนไข
วันนี้ (23 เม.ย. 2563) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลสำรวจปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ผ่านระบบ online ระหว่างวันที่ 9-13 เม.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 8,929 คน
ผลสำรวจภาพรวมพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และมาตรการการช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอ หากสถานการณ์ยาวนานกว่า 3 เดือน โดยพบ มีผู้ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียง 12% ขณะที่ผู้ไม่ได้รับความช่วยเหลือมีอยู่ 88% โดยในจำนวนนี้ รู้ว่ารัฐมีการช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือถึง 67% ขณะที่อีก 22% ไม่รู้ว่ารัฐมีมาตรการอะไรและต้องทำอย่างไร ส่วนอีก 4% อยู่ระหว่างการดำเนินการ
เมื่อแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นอาชีพ พบว่า กลุ่มอาชีพนายจ้าง ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขถึง 89% ขณะที่ 71% ของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเห็นว่าความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐช่วยพยุงธุรกิจได้ในระยะไม่เกิน 3 เดือน
โดยผู้ประกอบอาชีพนายจ้าง 70% ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ
24.3% เงินทุนสำหรับฟื้นฟูธุรกิจ/การลดภาระค่าจ้างแรงงาน
22.9% ลดภาระค่าใช้จ่ายในธุรกิจ เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบ จัดจ้างบริการ เงินเดือน/สวัสดิการพนักงาน
22.6% เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล้องในช่วงวิกฤต
ขณะที่กลุ่มอาชีพพนักงาน ลูกจ้าง และแรงงาน 88% ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไข ขณะที่ 73% ของผู้ได้รับความช่วยเหลือเห็นว่าความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐช่วยให้อยู่ได้ในระยะไม่เกิน 3 เดือน โดยมาตรการที่ได้รับมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ มาตรการลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรการลด/เลื่อนเวลา ชำระภาษีเงินได้บุคคลาธรรมดา และมาตรการลด/เลื่อนเวลาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายและมาตรการด้านการคลัง แต่ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่าย ลดหนี้สิน และการเสริมสภาพคล่องด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤตอย่างน้อย 3 เดือน
ส่วนกลุ่มอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเนื่องจากติดปัญหาด้านเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ถึง 89% ดังนั้น กลุ่มนี้ต้องการให้ภาครัฐผ่อนปรนเงื่อนไขให้เหมาะสมและเร่งช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคในชีวิตประจำวันและการผ่อนปรนภาระหนี้สิน
สำหรับกลุ่มว่างงาน เป็นกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่กลับเข้าถึงความช่วยเหลือน้อยที่สุด โดย 91% ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไข ซึ่งในกลุ่มว่างงานนี้ พบว่ามีถึง 31% ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากถูกพักงานหรือเลิกจ้างเพราะ COVID-19 และมีแนวโน้มจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน หากภาครัฐไม่เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ สศช. ระบุว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบแต่ยังคงพึ่งพาตัวเองได้เสนอให้ภาครัฐจัดลำดับให้ความช่วยเหลือไปยังผู้ที่เดือดร้อนกว่า โดยมีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันการทุจริตและการสวมสิทธิ์
“กลุ่มที่ต้องการรับความช่วยเหลือ แต่ติดเงื่อนไข มีทั้งผู้ที่ไม่เข้าข่ายและผู้ที่มีสิทธิ์แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ยังมีความซับซ้อนและยังไม่ครอบคลุมปัญหาที่แท้จริงในมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม”