แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนเรื่องค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เกิดจากปัจจัยอะไรกันบ้าง
แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่รอบบิลเดือน มี.ค. แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนเรื่องค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน โฆษก การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และนาย ธวัชชัย ชยาวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้ข้อมูลตรงกันว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และการปรับรูปแบบการทำงาน Work from Home ในช่วงการระบาดของโรคไวรัส CPOVID-19 ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดทำงานหนักขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นตามมา
ขณะที่ ขวัญตา จินตสุทธิศักดิ์ ผู้อยู่อาศัยย่านนวมินทร์ กล่าวว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น โดยเมื่อเทียบรอบบิลเดือน มี.ค.ปี 2562 กับปีนี้ พบว่าค่าไฟฟ้าขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 4,000 บาท เป็น 8,000 บาท ทั้งที่เครื่องใช้ไฟฟ้า และชั่วโมงการใช้เท่าเดิม แต่หน่วยการใช้ไฟกลับมากขึ้น
จากการทดลองนำเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ต่อมิเตอร์ไฟ เพื่อทดสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้า พบว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เช่น ไมโครเวฟ กาน้ำร้อน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น เช่น ตู้เย็น หรือเครื่องปรับอากาศ จะมีปริมาณการใช้ไฟสูงกว่าชนิดอื่น เพราะอุณหภูมิของสภาพอากาศภายนอก มีผลอย่างมากต่อปริมาณการใช้ไฟ
ด้านนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน โฆษกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงสถิติการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนว่า ปกติจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นช่วงหน้าร้อน และยืนยันว่าการไฟฟ้า ไม่ได้ปรับขึ้นค่าไฟแต่อย่างใด
การไฟฟ้านครหลวง ยังให้ข้อมูลว่า หากประชาชนสงสัยเรื่องค่าไฟฟ้าที่สูงผิดปกติ สามารถทำการตรวจสอบเลขมิเตอร์ไฟฟ้า เปรียบเทียบกับจำนวนหน่วยในใบแจ้งค่าไฟฟ้าได้ว่า ตรงกันหรือไม่ รวมถึงควรหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ
ขณะที่กองปราบปราม ให้คำแนะนำว่า การนำภาพใบแจ้งค่าไฟฟ้ามาโพสต์ลงโลกออนไลน์ อาจมีความเสี่ยงถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ