การประชุมสภา ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รอธรรมนัส พรหมเผ่า
วันที่ 26 ก.พ. การประชุมสภา ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ใช้สิทธิ์พาดพิง กรณีนายนิคม บุญวิเศษ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายเรื่องการใช้คำนำหน้าชื่อและเงินรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 ล้านบาททั้งที่รัฐบาลยกเลิกโควตาสลากกินแบ่งฯ ผู้ค้ารายใหญ่ไปแล้วว่า เรื่องยศหรือคำนำหน้าของตนมีความสับสน มีคำสั่งและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีหลายฉบับ ทั้งเรื่องถอดยศและเลื่อนยศ แต่ยืนยันว่า ตนไม่เคยคิดแอบอ้างเรื่องยศ ชีวิตที่ผ่านมาถึงทุกวันนี้ไม่เคยแอบอ้างยศไปทำมาหากิน
“เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2541 ได้มีการลงนามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชาอนุญาตให้ถอดยศ ร.ท.พชร พรหมเผ่า สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ 9 ก.ย. 2541 เหตุผลประพฤติตัวไม่สมควรกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร แพ.ศ. 2476 โดยมีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้นรับสนองพระบรมราชโองการ”
“แต่ก็มีหนังสือของกระทรวงกลาโหมอีกฉบับว่าด้วยการเลื่อนยศนายทหารสัญญาบัตร โดยอาศัยอำนาจ ม.3 ของ พ.ร.บ.ยศทหาร พ.ศ. 2475 ให้เลื่อนยศนายทหารสัญญาบัตรในสังกัด บก.ทหารสูงสุดซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งยศและการเลื่อนยศของข้าราชการทหารปี 2541 เป็นว่าที่ร้อยเอก อันดับ1 ร.ท.พชร พรหมเผ่า ลงชื่อโดย พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ 1 มิ.ย.2541 แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนคือเนื่องจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 24 ต.ค. 2541 เรื่องการถอดยศร้อยโท แต่อีกคำสั่งหนึ่งลงวันที่ 1 มิ.ย. 2541 ซึ่งถึงเดือนตุลาคมก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน ดังนั้นจึงเกิดความสับสน”
ตอนชี้แจงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หรือตอนสมัคร ส.ส.ก็ใช้คำนำหน้าว่านาย แต่ตอนที่จะมีการนำชื่อของตนขึ้นทูลเกล้าฯ ตอนจะรับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ก้มีการถกเถียงกัน ซึ่งตนก็ไปหาหลักฐานว่ายศยังอยู่ไหมแต่หาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น รมช.เกษตร คำนำหน้าชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัส ก็ใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“เมื่อมีการนำชื่อเสนอขึ้นโปรดเกล้าก็มีการถกเถียงกันหลายประเด็น ตนพยายามหาหลักฐานสรุปแล้วยศตนยังอยู่หรือไม่ แต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ จึงมีความจำเป็นเมื่อได้รับโปรดเกล้าให้ใช้ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรก็ใช้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาไม่ใช่ประเด็นที่ตน ใช้ยศอำนาจเพื่อได้เปรียบเชิงการเมืองเลย “
ส่วนเรื่องเงินรายได้จากการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ยอมรับว่า ก่อนเข้าสู่การเป็น ส.ส. ตนมีอาชีพเป็น 1 ใน 5 เสือกองสลาก แต่มันผิดหรือครับที่ตนมีอาชีพผู้ค้าสลากรายใหญ่ อย่ามองเห็นผู้ค้าสลากรายใหญ่เป็นโจรเอารัดเอาเปรียบทางสังคม 5 เสือกองสลากก็มีคุณธรรม ไม่ใช่เอาเปรียบ แต่เมื่อนโยบายรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ให้มี 5 เสือหรือผู้จำหน่ายสลากรายใหญ่ ก็ได้ยุติการเป็นคู่สัญญากับกองสลาก เมื่อ 4 ส.ค. 2558
แต่ที่ยังแสดงรายได้จากการจำหน่ายสลากเดือนละ 3 ล้านบาท คือ รายได้จากการเช่าแผงค้าสลากข้างสำนักงานสลาก โดยตนเช่าช่วงจากเจ้าของตลาด ตนต้องเปิดเกือบ 10 แผง เพราะต้องนำเงินหล่อเลี้ยงลูกค้าสลากของตนที่ทำธุรกิจนำสบากไปขายทั่วประเทศกันมาเกือบ 10 ปี ให้เขายังมีอาชีพ
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวด้วยว่า ลำพังเงินเดือน ส.ส.พวกเราอยู่ได้เหรอ ใครไม่เป็นผู้แทนเขตไม่รู้หรอก ต้องดูแลพื้นที่จำนวนมาก เดินออกจากย้านก็เสียตังค์ สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจเงินไม่พอ เราต้องทำมาหากินเหมือนกันไม่อย่างนั้นจะอยู่ไม่ได้
“การทำอาชีพนี้ (แผงขายสลาก) ผมถือว่าเป็นอาชีพสุจริต แม้เราจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือ ส.ส.ก็ตาม การเป็นรัฐมนตรีถือว่าสาหัสพออยู่แล้ว แต่สถานะการเป็น ส.ส โดยเฉพาะผู้แทนตลาดล่าง เงินเดือนแต่ละเดือนจากการได้รับจากรัฐบาลประมาณ 120,000 บาท ถามว่างานแต่ละงานในฐานะการเป็น ส.ส. มันเลี้ยงพวกเราได้หรือไม่ ใครไม่เป็นผู้แทนจากเขตไม่รู้หรอก ยกตัวอย่าง ส.ส.บ้านผมดูแลพื้นที่พะเยามีกี่อำเภอ อบต.หมู่บ้าน ออกจากบ้านก็เสียเงินแล้ว สิ้นเดือนยิ่งกว่าสิ้นใจเงินไม่พอ ผมเชื่อว่า ส.ส.ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลต่างก็ตระหนักดีว่าเราต้องทำมาหากินเหมือนกัน ไม่ใช่นั้นอยู่ไม่ได้“ ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ที่มา WorkpointNews