เผยผลกฤษฎีกา ตอบข้อซักถามของกรมป่าไม้กรณีการดำเนินคดี ปารีณา
วันที่ 12 ก.พ. 63 เผยผลกฤษฎีกา ตอบข้อซักถามของกรมป่าไม้กรณีการดำเนินคดี “ปารีณา” ซึ่งครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน อ.จอมบึง จ. ราชบุรี ระบุ ส.ป.ก. ยังไม่นำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรสิทธิ์จึงยังถือเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ส.ป.ก. เป็นเจ้าภาพดำเนินการตามกฎหมายร่วมกับกรมป่าไม้ ล่าสุดทั้ง 2 หน่วยงานเตรียมนัดถกตีความ ด้าน “ปารีณา” รุดส่งหนังสือที่กรมป่าไม้ยัน ดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ข้อกล่าวหาเอง ไม่มอบอำนาจผู้ใด ขณะที่ สปก.เตรียมพร้อมลงพื้นที่ราชบุรี อีกรอบพรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นมายังกรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่ขอหารือแนวทางกฏหมายในการบังคับใช้กับผู้ถือครองที่ดินในเขตป่าไม้ ทับซ้อนกับเขตประกาศปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อหาข้อยุติทางกฏหมายกรณีที่ดินเขาสนฟาร์ม ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ถือครองโดย น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) โดยมีความเห็นว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวยังถือเป็นที่ป่า
ทั้งนี้ กรมป่าไม้มีหนังสือ ด่วนที่สุดลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 อนุมัติให้ปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้จําแนกไว้ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร และมติ ครม.เมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2536 ให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรที่เสื่อมสภาพแล้วและที่มีราษฎรเข้าถือครอง ทํากินอยู่ให้ส.ป.ก.นําไปปฏิรูปที่ดิน และระหว่าง ส.ป.ก. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ หน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักในการดําเนินคดี ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การเพิกถอน ป่าสงวนแห่งชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามมาตรา 26(4) แห่งพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงการกําหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทําการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที
กรณีที่ครม.มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบแปลงพื้นที่ที่มีราษฎรยึดถือครอบครองทําประโยชน์อยู่แล้วเพื่อให้ราษฎรได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ.กําหนด เขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแปลงใดแล้วนั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติในทันที แต่ยังต้องดําเนินการในขั้นตอนของการปฏิรูปที่ดินตาพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ต่อไปด้วย
“ดังนั้นการจะบังคับใช้หรือผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินประกอบด้วย กล่าวคือ หากพ.ร.ฎ.กําหนดเขตปฏิรูปที่ดินยังไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินนั้นจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพ.ร.บ.ป่าสงวน แห่งชาติ พ.ศ. 2507และอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว”รายงานระบุ