กลายเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจ เมื่อ สมคิด พุ่มพวง หรือ คิด เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่อง 5 ศพ
กลายเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจ เมื่อ สมคิด พุ่มพวง หรือ คิด เดอะ ริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่อง 5 ศพ ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ได้รับการอภัยโทษออกมาและก่อเหตุซ้ำในลักษณะเดิม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังอยู่ระหว่างไล่ล่าตัว ซึ่งเรื่องนี้ แพทย์วิเคราะห์ว่า สมคิด พุ่มพวง มีพฤติกรรมเข้าข่ายอาการ "ไซโคพาธ" (Psychopaths) เป็นอาการทางจิต ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ขาดความเห็นใจ ไร้สำนึก ด้านชา ไม่เกรงกลัวอะไร เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่มีความยับยั้งชั่งใจใด ๆ
อาชญากรที่มีอาการ "ไซโคพาธ" (Psychopaths) มักมีส่วนเกี่ยวเนื่องกันคือ ตอนเด็กไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากพ่อแม่ ถูกทอดทิ้ง ความเห็นอกเห็นใจน้อยลง อาจไม่ได้รับการสั่งสอนการเห็นใจเข้าใจจิตใจต่อผู้อื่น หรือการมีส่วนร่วมในด้านดีของสังคม ตัวเองอยู่ในความรุนแรงบางอย่าง มีความกระทบกระเทือนทางสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับความกลัว ทำให้เขาไม่เกรงกลัวอะไร เคยชินกับความรุนแรง บางทีไม่มีคนตอบสนองเขาในแง่บวก ก็หาความเห็นอกเห็นใจจากการตอบสนองด้านลบแทน เช่น ถูกตำรวจจับ ได้รับความสนใจจากตำรวจ ก็พัฒนาเป็นบุคลิกภาพต่อต้านสังคมขึ้นมา
ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) เป็นภาวะที่รักษาได้ยาก ผู้ป่วยมักไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา
สำหรับสาเหตุ และอาการของผู้ป่วย ไซโคพาธ (Psychopaths) มีดังนี้
สาเหตุ
- ด้านร่างกาย : มีความผิดปกติของสมอง, เกิดอุบัติเหตุ ส่งผลเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง และพันธุกรรม
- ด้านจิตใจ และสังคม : ถูกกระทำรุนแรงในวัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูแบบละเลย
- อาชญากรรมในครอบครัว : ความแตกแยกในครอบครัว ความโหดร้ายของสภาพสังคมรอบตัว
อาการ
- มีลักษณะจิตใจที่แข็งกระด้าง
- สนองความต้องการตนเองอย่างเดียว ไม่สนใจคนอื่นในสังคม
- มีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม
- มีพฤติกรรมความรุนแรงซ้ำ ๆ และก่อให้เกิดอาชญากรรม
การรักษา
- รักษาด้วยยา
- ปรับพฤติกรรม เน้นพัฒนาสิ่งที่สนใจในแง่ดี และให้รางวัลเมื่อประพฤติดี
- การลงโทษมักไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เนื่องจากอาการด้านชาทางอารมณ์
อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นน่าสนใจจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่าคนร้าย มีอาการป่วยจริง ๆ และไม่กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดข้ออ้างในการกระทำผิด โดยทางเพจกรมสุขภาพจิต ระบุว่า การรับโทษหรือไม่นั้นเกี่ยวข้องกับเจตนาและการรับรู้การกระทำ โรคทางจิตเวชเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาของชั้นศาล