นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ) เปิดเผยว่า
วันที่ 31 ม.ค.63 นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (28 ม.ค. 2563) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 599 ตำบล 5,125 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ รวม 35 อำเภอ 166 ตำบล 1,200 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนครกาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวม 44 อำเภอ 284 ตำบล 2,722 หมู่บ้าน ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 30 อำเภอ 149 ตำบล 1,203 หมู่บ้าน
ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ ทั้งการสูบส่งน้ำการขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
'ธรรมนัส' ระบุนายกฯ สั่งทำฝนหลวง แก้ฝุ่น - ภัยแล้ง
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แก้ปัญหาภัยแล้งและฝุ่นละออง PM 2.5 จึงสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้งนี้ หากพบว่าบริเวณใดสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีอยู่ 3 ชุดบินขึ้นปฏิบัติการทันที ขณะนี้อยู่ในห้วงที่กรมฝนหลวงฯ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงอากาศยาน ปกติแผนเปิดหน่วยฝนหลวงประจำปีจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2563 แต่ปีนี้จะเลื่อนเร็วขึ้นมาเป็นวันที่ 3 ก.พ. 2563 เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งและฝุ่นละออง PM 2.5 จะรุนแรง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรขยายอัตรากำลังเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและเพิ่มจำนวนอากาศยาน เพราะภารกิจมีมาก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความแห้งแล้งถี่และนานขึ้น ตลอดจนปี 2562 ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 หลายพื้นที่ กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการ ทำให้พ้นวิกฤติมาได้ มั่นใจว่าการขออัตรากำลังเพิ่มไปยังคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งเสนอขอรับข้าราชการเพิ่มประมาณ 300 คน และพนักงาน 400 คนนั้น จะได้รับการพิจารณาตามความเหมาะสมของภารกิจและปริมาณงาน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 3 ชุด ประจำอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากพบที่ใดมีความชื้นสัมพัทธ์และดัชนีการยกตัวของเมฆเหมาะสมจะบินขึ้นทำฝนทันที การทำฝนช่วยแก้ภัยแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ และลดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปีนี้มีแผนการทำงานเหมือนปีที่แล้ว โดยได้รับอนุญาตให้บินเข้าใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติมากขึ้น จากปกติต้องอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 60 ไมล์ โดยสามารถอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 45 ไมล์ได้ ซึ่งจะสามารถบินปฏิบัติการบริเวณจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา เพื่อก่อเมฆแล้วให้ลมพัดพามาตกเป็นฝนในกรุงเทพฯ ได้
ทั้งนี้ การเปิดหน่วยฝนหลวงประจำปีระหว่างวันที่ 3-16 ก.พ. 2563 จะเปิดหน่วยปฏิบัติการ 6 หน่วย ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี โดยใช้อากาศยานรวม 12 ลำ เป็นเครื่องบินฝนหลวง 8 ลำและเครื่องบินกองทัพอากาศ 4 ลำ อีกทั้งเปิดฐานเติมสารฝนหลวง 1 ฐานที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2563 เป็นต้นไปจะเปิดหน่วยปฏิบัติการทั้งหมด 11 หน่วย ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี โดยใช้อากาศยาน 29 ลำ เป็นเครื่องบินฝนหลวง 23 ลำ และเครื่องบินกองทัพอากาศ 6 ลำ รวมถึงเปิดฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐาน จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรี และสงขลา (หาดใหญ่)