กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกแชร์ออกไปอย่างมาก เมื่อเฟซบุ๊ก DocumentaLy นั้นได้ออกมา
กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกแชร์ออกไปอย่างมาก เมื่อเฟซบุ๊ก DocumentaLy นั้นได้ออกมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับหมอคนหนึ่งไว้ว่า When the doctors cry: เมื่อหมอร้องไห้
กลางดึก นอกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐ California หมอหนุ่มขอตัวออกจากห้องฉุกเฉินหลังจากพยายามยื้อชีวิตคนไข้อายุ 19 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ช่วงเวลาสั้นๆนั้นเขาวิ่งออกไป ข้ามถนนหน้าโรงพยาบาล วิ่งไปที่ที่ลับตาคนที่สุด พิงกับผนังคอนกรีต ทรุดตัวลงแล้วนั่งร้องไห้
นาทีต่อมาหมอหนุ่มลุกขึ้นยืน เงยหน้าขึ้น เดินกลับไปทำงาน เหมือนเมื่อสักครู่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่เขาไม่รู้คือเจ้าหน้าที่กู้ภัยขับรถผ่านมา และถ่ายภาพช่วงเวลาสั้นๆนั้นได้พอดี หลังจากภาพนี้เผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ก็ได้กลายเป็นไวรัล เนื่องเพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นภาพแบบนี้
คำถามคือ หมอร้องไห้ (ในงาน) กันด้วยเหรอ
คำตอบคือ ร้องสิ แต่ไม่ค่อยมีคนเห็นหรอก พอน้ำตามันจะไหลออกมา หมอจะรีบวิ่งหนีไปให้ไกลสายตาผู้คนมากที่สุด ไปที่ไหนก็ได้ ห้องน้ำ บันไดหนีไฟ ห้องเก็บของ แล้วร้องไห้คนเดียว (อาจจะมีโทรไประบายให้ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดฟังบ้าง) แต่ทุกคนรู้ดีว่าต้องรีบกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด เพราะยังมีงานรออยู่ และจะให้ใครรู้ไม่ได้ว่าเพิ่งวิ่งหนีไปร้องไห้มา
เพราะการร้องไห้นั้นยังคงถูกมองว่าเป็น ความอ่อนแอ เป็นสิ่งที่ไม่ควรแสดงออกให้ผู้ร่วมงาน และโดยเฉพาะคนไข้เห็น เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพ นอกจากนี้อาจจะยังทำให้เพื่อนร่วมงานลำบากใจอีกต่างหาก
มีการศึกษาพบว่า 73% ของนักศึกษาแพทย์เคยร้องไห้ และ 16% เคยเกือบร้องไห้หลังจากต้องเจอสถานการณ์ที่ผู้ป่วยในความดูแลอยู่นั้นเสียชีวิต
ในประเทศ Australia มีรายงานว่า 76% ของพยาบาลและ 57% ของแพทย์นั้นต่างเคยร้องไห้ในเวลางาน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากความเสียใจและความผูกพันที่มีต่อคนไข้ที่เสียชีวิต
หมอประจำห้องฉุกเฉินคนหนึ่งเขียนว่า 'ไม่มีอะไรในโลกที่ยากไปกว่า การที่ต้องเดินไปบอกญาติว่า คนที่เขารักนั้นได้จากไปแล้ว'
จะให้ทำงานหนักแค่ไหนก็ได้ จะให้ยืนผ่าตัดทั้งคืน จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจคนไข้ทางเดินหายใจตีบ รักษาเด็กที่มีอาการแพ้รุนแรง เปิดเส้น iv ที่ไม่มีใครเปิดได้…
แต่ช่วงเวลาที่ยากที่สุด คือช่วงเวลาหลังจากช่วยชีวิตคนไข้อย่างเต็มที่แล้ว แต่เขาไม่ฟื้นขึ้นมา และเราต้องหยุด มองไปรอบๆ ก้มมองรองเท้าตัวเองอีกทีให้แน่ใจว่าไม่มีรอยเลือดติดอยู่ เอาเสื้อกาวน์ขึ้นมาใส่ แล้วเดินออกไปแจ้งว่าคนไข้เสียชีวิตแล้ว นั่นแหละคือช่วงที่ยากที่สุด
มันเป็นส่วนผสมของอารมณ์หลายๆอย่างรวมกัน ทั้งความผูกพัน ความเสียใจ ความผิดหวัง การโทษตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้มันยากที่สุดคือ ณ ช่วงเวลาแห่งความสับสนนั้นกลับไม่สามารถแสดงออกให้ใครเห็นได้
และไม่ว่าจะเติบโตขึ้นแค่ไหน ทุกครั้งที่คนไข้ในความดูแลเสียชีวิต ความรู้สึกนั้นก็ไม่เคยหายไป เพียงแต่หมอและพยาบาลส่วนใหญ่จะเรียนรู้วิธีที่สามารถจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น…เท่านั้นเอง
ปัจจุบันนี้มีความตระหนักถึงสภาพจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ในที่ทำงานมากขึ้น มีช่องทางขอความช่วยเหลือมากขึ้น เพียงแต่นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งคงต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อพัฒนาระบบมา support จิตใจของผู้ทำงานในโรงพยาบาล
เพราะฉะนั้น…มันไม่ผิดหรอกถ้าจะร้องไห้ มันไม่ผิดปกติหรอกถ้าจะรู้สึกเสียใจ และถ้ารับมือไม่ไหวเราก็ต้องขอความช่วยเหลือ อย่าให้ความรู้สึกเหล่านี้มาทำลายตัวตนหรือแม้แต่ชีวิตของเรา