เมื่อผลประโยชน์ และแนวคิดไม่ลงตัว การแยกทางจึงเกิดขึ้น นี่คือบทสรุปเรื่องราว
เมื่อผลประโยชน์ และแนวคิดไม่ลงตัว การแยกทางจึงเกิดขึ้น นี่คือบทสรุปเรื่องราว การลาออกจากพรรคอนาคตใหม่ ของ 120 สมาชิก
Workpoint News สรุปสาระสำคัญ เอาไว้แบบเข้าใจง่ายใน 13 ข้อ
1) พรรคอนาคตใหม่ ก่อตั้งในวันที่ 15 มีนาคม 2561 มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และมีปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการพรรค จุดยืนของพรรคคือ ต้องการผู้สมัครที่เป็นคนธรรมดา ที่เป็นตัวแทนของทุกคนในสังคมได้
2) ด้วยความที่เป็นพรรคใหม่ ผู้คนประเมินไว้ว่าพรรคอนาคตใหม่ จะได้จำนวน สส. ราว 20-30 คน ในการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่พรรคอนาคตใหม่ กลับทำเซอร์ไพรส์ เมื่อกวาดสส.ไปถึง 81 คน ประกอบไปด้วย สส.แบบแบ่งเขต 31 คน และสส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน
3) ในประเทศไทย มีสส.ทั้งหมดรวม 500 คน ในสภา โดยสส.แต่ละคน จะได้รับเงินเดือน 113,560 บาท นอกจากนั้นยังสามารถแต่งตั้ง “ผู้ช่วย” ได้ถึง 8 คน ต่อ สส. 1 คน โดยแบ่งออกเป็นตำแหน่งดังนี้
– ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 ตำแหน่ง (เงินเดือน 24,000 บาท)
– ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 ตำแหน่ง (เงินเดือนคนละ 15,000 บาท)
– ผู้ช่วยทั่วไป 5 ตำแหน่ง (เงินเดือนคนละ 15,000 บาท)
4) สำหรับพรรคอนาคตใหม่ อ้างอิงจากนายภิญโญ ขันติยู ผู้สมัครแบบแบ่งเขต จังหวัดสกลนคร ระบุว่า หลังจบการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ทางพรรคได้มีการประชุมที่จังหวัดชลบุรี และระบุว่า สำหรับผู้สมัครของพรรคที่สอบตก ถ้าใครสนใจจะทำงานกับพรรคต่อไป มี 3 อ็อปชั่นให้เลือกว่าจะทำอะไร
1- ทำงานในสภา โดยจะมอบตำแหน่งให้เป็น ผู้เชี่ยวชาญ , ผู้ชำนาญการ หรือ ผู้ช่วยทั่วไป ของ ส.ส.
2- งานสร้างพรรคการเมือง ขยายอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ช่วยผลักดันให้พรรคยกระดับเป็นสถาบันการเมืองให้ได้
3- งานการเมืองท้องถิ่น สร้างฐานเสียงเพิ่มขึ้นในแต่ละท้องถิ่นของตัวเอง
ซึ่งมี ส.ส.สอบตกจำนวนมาก ที่เลือกข้อ 1 โดยแสดงความต้องการ อยากได้ตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะผู้ช่วยของ ส.ส.ท่านใดก็ได้
5) อย่างไรก็ตาม หลังจากสภาเปิด ทางพรรคอนาคตใหม่ได้มีการจัดตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ, ผู้ชำนาญการ และ ผู้ช่วยทั่วไป ปรากฏว่า สส.สอบตกบางคน ก็ไม่ได้รับเลือกให้มีตำแหน่ง เนื่องจากตำแหน่งไม่พอจะให้ ส.ส.สอบตกทุกคน
“คนที่ไม่ได้รับเลือก ไม่ใช่คุณไม่มีความสามารถ แต่อาจไม่เหมาะสมในเวลาและพื้นที่ตรงนั้น แน่นอนครับ มีคนทั้งผิดหวัง และสมหวัง เพราะ พรรคไม่ได้จัดให้ทุกคนได้ตำแหน่งครบกันหมด” ภิญโญ ขันติยู ระบุ
6) จากประเด็นเรื่องตำแหน่งของส.ส. ส่งผลให้ วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 อดีตผู้สมัคร 50 คน มีข่าวว่าเตรียมยื่นใบลาออกจากพรรค กับกกต. โดยนายนิพนธ์ แจ่มจำรัส ส.ส.สอบตก ของพรรคอนาคตใหม่ จากจังหวัดชลบุรี ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง โดยระบุว่า “แกนนำพรรคมีแนวคิดต่างจากจุดเริ่มต้น มีการเอื้อพวกพ้องที่มีความสนิทสนมส่วนตัว เพื่อให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
นอกจากนั้นยังวิจารณ์ด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่มีความเผด็จการ และมีการแบ่งชนชั้นเป็น 3 ระดับ คือระดับสูง อย่างธนาธร หรือปิยบุตร ระดับดาวสภา เช่นช่อ-พรรณิการ์ หรือ รังสิมันต์ โรม และ อีกระดับคือ สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ไม่มีบทบาทใดๆ
7) วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้อธิบายว่า “พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ให้ ส.ส.เลือกผู้ช่วยกันเองแบบที่พรรคอื่นทำ แต่พรรคอนาคตใหม่มีกติกาที่แบ่งตำแหน่งตามสัดส่วนโควต้าของพรรค เนื่องจากเห็นว่าคะแนนเสียงที่ได้รับมา ไม่ได้มาจาก ตัว ส.ส.คนเดียว แต่มาจากทุกภาคส่วนในพรรคช่วยกัน”
“แต่ตำแหน่งก็มีอย่างจำกัด แต่มีจำนวนคนมากกว่า ก็ต้องมีทั้งคนที่ได้ และไม่ได้ ทำให้บางคนที่ไม่ได้รับตำแหน่ง ก็ไม่พอใจบ้าง เป็นเรื่องปกติ”
8) บรรยากาศในพรรคอนาคตใหม่ จึงแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนพรรค กับอีกฝ่ายที่ต้องการแยกตัวออกมาจากพรรค วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 นายทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล หรือ เบสท์ ส.ส.สอบตกของพรรคอนาคตใหม่ ในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ได้ออกมาพูดถึงกลุ่มคนที่อยากลาออกว่า “วันแรกที่สมัครสมาชิก พรรคไม่เคยเสนออะไรให้ แล้ววันนี้พวกคุณกลับมาเรียกร้อง พอไม่ได้อย่างที่หวัง ก็ไม่พอใจ หาเรื่องต่างๆมาสนับสนุนให้ตนเป็นฝ่ายถูก พวกท่านจะลาออก ผมคงไม่สามารถไปคัดค้านอะไรได้”
“การลาออกของพวกท่าน ไม่ใช่ความผิดของพรรคเลย … คงต้องบอกว่า #เชิญเลยครับ”
9) วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 บรรดา สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ตั้งใจจะลาออก รวมทั้งสิ้น 120 ราย ได้เข้ามายื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
10) นายนิพนธ์ แจ่มจำรัส ส.ส.สอบตกพรรคอนาคตใหม่ จากจังหวัดชลบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า “การต่อรองตำแหน่งไม่ได้เกิดจากการที่พวกเราเรียกร้อง หรือร้องขอ แต่เป็นสัญญาจากพรรค ที่ให้สัญญาจากที่ประชุม เมื่อคำมั่นสัญญาต่างๆ เหล่านี้ มีเรื่องอื่นทับถมขึ้นมาเรื่อยๆ เราจึงรู้สึกว่าผู้นำของเรา ไม่รักษาคำพูด เรื่องเล็กๆน้อยๆ ยังรักษาคำพูดไม่ได้ แล้วจะไปทำนโยบาย ที่ลงไปสู่ประชาชนอีก 60 ล้านคนได้อย่างไร”
11) นอกเหนือจากเรื่องสมาชิกพรรคลาออกแล้ว ในช่วงเช้าวันนี้ สำนักข่าวอิศราได้ออกมาเปิดประเด็นใหม่ ว่ามีผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้ชำนาญการหลายคน ไม่ได้เป็น กลุ่มสส.ที่สอบตก ของพรรคอนาคตใหม่ ตัวอย่างเช่น นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร ที่บริจาคเงินให้พรรค 2 ล้านบาท ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ประจำตัว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ผู้บริจาคเงินให้พรรค 3.5 ล้านบาท ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการ ประจำตัวของ ส.ส.ธนาธร
12) สำหรับเรื่องประเด็นการลาออกจากพรรคอนาคตใหม่ ของอดีตสมาชิกพรรค 120 คน ก็มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกมองว่า พรรคอนาคตใหม่ มีความขัดแย้งภายในให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น จนดูขาดเสถียรภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี แต่อีกฝ่าย ก็มองว่า การปล่อยสมาชิกที่หมดใจให้พรรคแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
13) สุดท้าย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้กล่าวว่า “เมื่อเวลาเดินเข้ามา สถานการณ์และเวลา ก็พิสูจน์คนว่าใครยืนหยัดร่วมกับพรรค ใครมีอุดมการณ์ตรงกับพรรค ดังนั้นก็ไม่ใช่ เรื่องแปลก ทุกพรรคการเมืองก็เป็นอย่างนี้ เมื่อกาลเวลาเดินผ่านไป ก็มีคนเดินเข้า และเดินออก ตามปกติของเส้นทาง”
อย่างไรก็ตาม นายธนาธร ไม่กังวลมากนัก โดยระบุว่า “ถ้าเรื่องนี้เกิดที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอื่นๆ จะเป็นเรื่องราวใหญ่โตขนาดนี้ไหม ลองคิด ลองตัดสินเรื่องนี้ด้วยใจเป็นธรรม ทุกท่านน่าจะรู้คำตอบอยู่ว่า พรรคไหน มีความขัดแย้งในพรรคอย่างไรบ้าง แต่พอเป็นพรรคอนาคตใหม่ มีปัญหาภายในก็ถูกนำมาจู่โจม ทำให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต”
ที่มา: workpoint news