นักรบเคิร์ดถอนตัวจากบริเวณชายแดนซีเรียตามข้อตกลงหยุดยิงกับตุรกีที่มีสหรัฐฯ
กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ซึ่งมีนักรบเคิร์ดเป็นแกนหลักประกาศถอนกำลังออกจากเมืองราสอัลอัยน์ (Ras al Ain) บริเวณชายแดนซีเรียตามข้อตกลงหยุดยิงกับตุรกีที่มีสหรัฐฯ เป็นโบรกเกอร์ ในขณะที่โฆษกฝ่ายกบฏซีเรียที่มีอังการาหนุนหลังยืนยันว่าการถอนกำลังของพวกเคิร์ดยังไม่เสร็จสมบูรณ์
รายการที่เกี่ยวข้อง:
น้ำตาซึม! เรื่องเล่าจาก 'ปู ไปรยา' ค่ายผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลา
ตุรกียกพลบุกทางภาคพื้น หลังโจมตีทางอากาศถล่มนักรบเคิร์ดในซีเรีย
ตุรกีเมินคำ “ทรัมป์” ขู่แทรกแซง ลั่น “ไม่หยุดรบ” เดินหน้าบุกซีเรียต่อ
ตุรกีกร้าว ไม่สนสหรัฐฯ!โหมโจมตีนักรบเคิร์ดในซีเรีย ส่งฝูงบินรบถล่มแหลก
----------------
ราสอัลอัยน์เป็น 1 ใน 2 เมืองชายแดนซีเรียซึ่งกองทัพอังการาหวังที่จะขับไล่นักรบเคิร์ดออกไปเพื่อจัดตั้ง “เขตปลอดภัย” (safe zone) ขึ้นภายในซีเรียที่กินพื้นที่เข้าไปลึกประมาณ 30 กิโลเมตร
ตุรกีได้ระงับปฏิบัติการโจมตีพวกเคิร์ดในซีเรียเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่ค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 ต.ค.) ตามข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน กับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ ขณะที่ แอร์โดอัน เตือนว่า ตุรกีจะเปิดฉากจู่โจมอีกครั้งหลังพ้นเส้นตายในวันอังคารที่ 22 ต.ค. หากกองกำลัง SDF ยังไม่ล่าถอยออกไปจากพื้นที่เซฟโซน
“เราไม่มีนักรบหลงเหลืออยู่ในเมืองดังกล่าวแล้ว” คีโน กาเบรียล โฆษก SDF ระบุวานนี้ (20)
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ฝ่ายตุรกีระบุว่าในช่วงสุดสัปดาห์มียานพาหนะหลายสิบคันเข้าและออกจากราสอัลอัยน์ ซึ่งเวลานี้ถูกทหารตุรกีและพันธมิตรกบฏซีเรียปิดล้อมอยู่
ด้านพันตรี ยุสเซฟ ฮามูด โฆษกของกบฏซีเรีย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า พวก SDF ยังไม่ได้ถอนกำลังออกจากราสอัลอัยน์จนหมดสิ้น
ปฏิบัติการทางทหารของตุรกีเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ สั่งถอนหน่วยรบพิเศษอเมริกันออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซีเรีย ซึ่งเป็นเหตุให้วอชิงตันถูกวิจารณ์ว่า ‘ทรยศหักหลัง’ นักรบเคิร์ดที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯ ในการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)
อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเมื่อค่ำวานนี้ (20) ว่า ทรัมป์ มีท่าทีเห็นชอบให้คงทหารอเมริกันราว 200 นายเอาไว้ในภาคตะวันออกของซีเรียใกล้ๆ พรมแดนอิรัก ขณะที่ทำเนียบขาวยังไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้
ตุรกีต้องการตั้งเซฟโซนขึ้นในซีเรียเพื่อเป็น ‘พื้นที่กันชน’ เนื่องจากมองว่าพวกเคิร์ด YPG ซึ่งเป็นแกนหลักของ SDF นั้นเป็น ‘องค์กรก่อการร้าย’ ที่เชื่อมโยงกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งก่อความไม่สงบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมานานหลายสิบปี
การถอนตัวของทหารสหรัฐฯ ยังก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองที่รัสเซียถือโอกาสเข้าแทรกแซง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทหารซีเรียและรัสเซียก็ได้รับการเชื้อเชิญจากพวกเคิร์ดให้เข้าไปยังเมืองมานบิจ (Manbij) และโคบานี (Kobani) สองเมืองชายแดนที่สหรัฐฯ เพิ่งจะถอนทหารออกไป