หลานสาวยิ่งลักษณ์ งัดข้อมูลเงินกู้ ยุครัฐบาลลุงตู่ เปรียบเทียบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แฉมีตัวเลขแดง ติดลบ จำนวนมากต่างจาก รัฐบาลอาปู ซึ่งมีวินัยยอดกู้เงินลดลงทุกปี
หลานยิ่งลักษณ์ งัดข้อมูล แฉ! ลุงตู่ ขาดดุลกว่า อาปู
หลานสาวยิ่งลักษณ์ งัดข้อมูลเงินกู้ ยุครัฐบาลลุงตู่ เปรียบเทียบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แฉมีตัวเลขแดง ติดลบ จำนวนมากต่างจาก รัฐบาลอาปู ซึ่งมีวินัยยอดกู้เงินลดลงทุกปี แต่กลับถูกป้ายสีว่า ผลาญงบฯประเทศชาติ
21 ตุลาคม 2562 น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้
ตลอดเวลา5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ “เพิ่มสูงขึ้น” เกือบทุกปี
• พ.ศ. 2558 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 250,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2559 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 390,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2560 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 550,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2561 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 550,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2562 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 450,000 ล้านบาท
• และในปี พ.ศ. 2563 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 469,000 ล้านบาท
น่าตกใจ! ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะสร้างตัวเลขกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สูงมากกว่า 2.659 ล้านล้านบาท
ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาถูกกล่าวหาจากรัฐบาลประยุทธ์ต่างๆ นาๆ นั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดการจัดทำงบประมาณ กลับพบตัวเลขที่ชัดเจนว่า ตลอด 3 ปีที่บริหารประเทศ มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ “ลดน้อยลง” ทุกปีๆ และจำนวนรวมก็น้อยกว่าอย่างชัดเจนด้วย
• พ.ศ. 2555 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 400,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2556 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 300,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2557 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 250,000 ล้านบาท
และภาพรวมตลอด 3 ปี ไม่เพียงตัวเลข “ลดน้อยลง” อย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ตัวเลขโดยรวม ก็เพียง 950,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญมากกว่าตัวเลขการขาดดุลมากน้อย แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และใช้เม็ดเงินงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงๆ
ถ้ายก”อคติ” ในใจออกไป และ มองด้วยใจเป็นกลาง จะเห็นความแตกต่างของการใช้งบประมาณของ 2 รัฐบาล อย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดทำงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในนโยบายที่ก่อให้ “ประชาชน” เกิดรายได้ก่อน เพราะเมื่อประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ประเทศก็มีรายได้เพิ่มขึ้น
ที่มา: www.mtoday.co.th