ตามที่มีการเสนอชื่อ ทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ โดยพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ2560
"...บรรดาเหตุผลที่พรรคไทยรักษาชาติกล่าวอ้างมานั้น เป็นเพียงการพิจารณาแต่ถ้อยคำตัวอักษรของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาถึงหลักการพื้นฐานที่ถือได้ว่าเป็น “จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่ยึดถือมาโดยตลอดนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งได้เคยบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก ในมาตรา 11 ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”..."
ตามที่มีการเสนอชื่อ ทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ โดยพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ที่เรียกว่าบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าวันที่ 8 กพ. 2562นั้น ได้ให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชนทั่วไป ด้วยคำถามใหญ่ที่ว่า “การเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ” สามารถทำได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ ซึ่งทางพรรคไทยรักษาชาติยืนยันว่าทำได้และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการเนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้ และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 89 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลไว้2ประการ คือ
(1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
นอกจากนี้พรรคไทยรักษาชาติยังยืนยันอีกครั้งในแถลงการณ์กรณีคุณสมบัติบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีจากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติมีมติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ โดยขอชี้แจงว่าพรรคไทยรักษาชาติได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนี้
1.ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ได้ลาออกจากการดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้า ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2515 ทำให้สถานะทางกฎหมายของท่านเป็นสามัญชนตั้งแต่บัดนั้น
2.คุณสมบัติของผู้ที่จะอยู่ในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 และ 89 กำหนดให้ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ได้มีหนังสือตอบรับมายังพรรคไทยรักษาชาติตามเอกสารแนบ ซึ่งได้ยื่นต่อกกต. ไปแล้ว
3.กรณีผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่ายกฎหมายของพรรคฯ ทำการตรวจสอบและยืนยันว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ไม่ได้ขาดคุณสมบัติจากกรณีดังกล่าวตามคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่าการไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นข้อห้ามของรัฐธรรมนูญในอดีต แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ยกเลิก ห้ามเพียงต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
บรรดาเหตุผลที่พรรคไทยรักษาชาติกล่าวอ้างมานั้น เป็นเพียงการพิจารณาแต่ถ้อยคำตัวอักษรของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาถึงหลักการพื้นฐานที่ถือได้ว่าเป็น “จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่ยึดถือมาโดยตลอดนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งได้เคยบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก ในมาตรา 11 ว่า
“พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่อๆมา จะไม่ได้มีการบัญญัติเนื้อความดังกล่าวเอาไว้ก็ตาม แต่ในทางวิชาการกฎหมายสามารถตีความได้ว่าหลักการนี้ก็ยังคงอยู่ เพราะถูกยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อๆกันมา ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม เป็นจารีตประเพณีในทางรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ได้รับรองไว้ในมาตรา 5 วรรคสองว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ”
ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ การที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2515 จะถือว่าเป็นประชาชนธรรมดาที่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้หรือไม่นั้น ในประเด็นนี้คำตอบอยู่บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 (ตอนบ่าย) ณ พระที่นั่งอนันตสมาค ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ฉบับแรก ซึ่งเป็นการตอบข้อสงสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดสละฐานันดรศักดิ์มาเป็นสามัญชนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้หรือไม่ โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นนักกฎหมายสำคัญสองท่าน คือ พระยามานวราชเสวี และพระยานิติศาสตร์ไพศาล ที่ขอคัดมาให้เห็นดังนี้
พระยามานวราชเสวีได้กล่าวตอบไว้โดยบันทึกไว้ในรายงานประชุมสภาฯว่า “ ขอตอบนายมังกรที่ยอมให้เจ้าลดฐานะและเข้ามาอยู่ในวงการเมืองได้ ข้อนี้ถ้ากำเนิดเป็นเจ้า จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะยอมให้ลดตัวเป็นคนชั้นต่ำโดยไม่ห้ามว่าไม่ควรให้ลดฐานะมาอยู่ในวงการเมืองแล้ว ย่อมให้โทษ เพราะฉะนั้นควรให้ท่านคงอยู่ในฐานะเดิม”
พระยานิติศาสตร์ไพศาลได้ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า “ ทุกประเทศเขาไม่รับเจ้าเข้าสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นถ้าไม่มีกฎหมายให้เจ้าลาออกจากเจ้าได้แล้ว เจ้าชายก็ลาออกไม่ได้ ปัญหาที่ว่าเจ้าไม่เป็นเจ้าคงไม่มี”
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าโดยกำเนิดนั้น ไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นจากราษฎรสามัญแล้วผู้นั้นลาจากเจ้า ปัญหาจึงมีว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและลาออกแล้ว จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกได้หรือไม่ และเห็นว่าถ้าลาออกแล้วเข้ามาได้ เพราพวกเหล่านี้เป็นคนไทย ชาวต่างประเทศที่แปลงชาติเป็นคนไทยแล้ว ยังมีสิทธิที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ ฉะนั้นบุคคลประเภทนี้จึงควรอนุญาต”
จากรายงานการประชุมข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้าแต่กำเนิดจะไม่สามารถลาออกจากความเป็นเจ้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ เว้นแต่บุคคลที่เป็นคนสามัญชนมาก่อนแล้วได้รับการแต่งตั้งมีฐานันดรศักดิ์ หากลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ก็จะกลับเป็นคนธรรมดาที่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ ดังนั้นแล้ว ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯจึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยขัดต่อจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั่นเอง
คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้
- #ทรงพระสเลนเดอร์ คืออะไร ทำไมทูลกระหม่อมฯ ทรงให้ใช้คำนี้แทนทรงพระเจริญ
- ทูลกระหม่อมฯ เผยชีวิตสามัญชน การอยู่ต่างแดน ทำให้ได้เห็นทั้งสุขและทุกข์
- ย้อนเผยลายเซ็น “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ”ลงพระนามรับด้วยพระองค์เอง
- บุกยิงว่าที่ผู้สมัครส.ส. พรรคพลังชาติไทย เขต 2 จ.ยะลา ดับคาบ้านพร้อมเมีย 2 ศพ
- วันนอร์ฯ พร้อมเป็นนายกฯ นำทัพประชาชาติบุกพัทลุงเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.
ที่มา isranews