ทุกภาคส่วนพร้อมรับมือพายุโซนร้อนปาบึก เริ่มแผลงฤทธิ์วันที่ 3-5 มค ทวีความรุนแรงหลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย
ทุกภาคส่วนพร้อมรับมือพายุโซนร้อนปาบึก เริ่มแผลงฤทธิ์วันที่ 3-5 ม.ค. ทวีความรุนแรงหลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย คาดความเร็วลมสูงสุดถึง 95 กม.ต่อ ชม. เทียบเท่าพายุ แฮเรียต ที่เคยซัดถล่มแหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 จ่อขึ้นฝั่งเขตรอยต่อชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงค่ำวันที่ 4 ม.ค. ได้รับผลกระทบทุกจังหวัดภาคใต้ เตือนภัย 4 จังหวัดหนักสุด ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ นครศรีธรรมราช มท.1 สั่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งเรื่องไฟฟ้าและการระบายน้ำ พร้อมอุปกรณ์กู้ภัยและเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. สทนช.เร่งพร่องน้ำในเขื่อนรองรับปริมาณน้ำฝน ชาวประมงผวาหนักรีบนำเรือกลับเข้าฝั่งหลบพายุ เรือโดยสารงดให้บริการ รพ.บางสะพานเตรียมย้ายผู้ป่วยวิกฤติหนักไปที่ปลอดภัย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวอีกว่า สำหรับพายุโซนร้อนปาบึกถือว่ามีความรุนแรงเทียบเท่าระดับเดียวกับพายุโซนร้อน แฮเรียต ที่เคยเข้าถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 ครั้งนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการเตือนภัยดีเท่ากับปัจจุบัน ทำให้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ขณะที่ในปัจจุบันมีระบบเตรียมพร้อมของภาครัฐ และภาคเอกชนที่ดีแล้ว คิดว่าไม่น่าเสียหายเหมือนกับปี 2505 เบื้องต้นประสานกระทรวงมหาดไทยแจ้งเตือนหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ 16 จังหวัดแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ พายุโซนร้อนปาบึกเป็นพายุลูกแรกของปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าประเทศไทย 1-2 ลูก ที่ผ่านมามีพายุที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับประเทศไทยคือ เมื่อปี 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียต เข้าแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และพายุไต้ฝุ่นเกย์ เข้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร เมื่อปี 2532 ทำให้มีผู้ชีวิตจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจ้งสถานการณ์ล่าสุดของพายุปาบึกว่า ขณะนี้ยังเป็นพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 น็อต หรือประมาณ 65 กม.ต่อ ชม. แต่คาดว่าเมื่อพายุหันหน้าเข้าสู่อ่าวไทย ความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 น็อต หรือราว 90-95 กม.ต่อ ชม.ความเร็วลมยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อน มีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียตที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505 สามารถทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักได้ การทวีความรุนแรงขึ้นของพายุเป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเปลี่ยนความรุนแรงของคลื่นจากสูง 2-4 เมตร เป็น 3-5 เมต
แบบจำลองสภาพอากาศระบุด้วยว่า กรณีของพายุโซนร้อนปาบึกนี้ จะมีพื้นที่ฝนตกหนักและเฝ้าระวังสูงสุด 4 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝน 200-300 มม. ในวันที่ 4-5 ม.ค. และอาจจะทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 400-500 มม. สำหรับวันที่ 3 ม.ค. พายุปาบึกจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ก่อน ส่วนวันที่ 4 ม.ค. จะมีฝนตกหนักมากที่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร วันที่ 5 ม.ค. จะตกหนักมากที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และ ประจวบคีรีขันธ์ และวันที่ 6 ม.ค. จะเคลื่อนตัวมาตกหนักมากที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอาจจะเลยมาถึง จ.เพชรบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สสนก.ได้เสนอให้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ภาคสนามจาก สสนก.ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องมือเตรียมพร้อมปฏิบัติการแล้ว
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติว่า ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก มีเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ กรมชลประทานที่มีน้ำเกินกว่า 80% ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบ-คีรีขันธ์ ส่วนเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา สทนช.สั่งการให้พิจารณาเร่งการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เผยว่า ได้ประสานงานกับผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบพายุโซนร้อนปาบึก เบื้องต้นการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังคงปกติ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งนี้ในส่วนของผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยตอนล่าง หรือตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงมา ได้ทยอยอพยพพนักงานกลับขึ้นฝั่งแล้ว เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กรมมีมาตรการตามแผนงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว เน้นย้ำถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด การผลิตก๊าซฯยังปกติ ส่วนการผลิตน้ำมันลดลงเล็กน้อย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงการรับมือพายุปาบึกว่า รัฐบาลเตรียมการตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมาแล้ว มีการแจ้งเตือนไปทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องประมง การท่องเที่ยว การสัญจรไปมาในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามันเตรียมการป้องกันตัวเองและขอร้องภาคเอกชนห้ามออกเรือโดยสารช่วงนี้ หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นแม่งานประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือ คาดว่าพายุจะเข้าภาคใต้ตอนบนไปจนถึงตอนล่างวันที่ 3-5 ม.ค. ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินผลจากพายุจะทำให้คลื่นสูงประมาณ 5 เมตร จึงเตรียมความพร้อมสั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานรับมือเรื่องไฟฟ้า ในพื้นที่สามารถช่วยกันป้องกันเบื้องต้นเฝ้าระวังแผ่นป้ายตามเสาไฟเพื่อลดความเสี่ยง และหากมีฝนตกหนักต้องเตรียมความพร้อมด้านการระบายน้ำด้วย ยืนยันว่าระบบเตือนภัยไม่มีปัญหาเพราะไทยมีทั้งระบบและบุคลากรที่ดีมากในระดับอาเซียน สาธารณภัยจะเกิดรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะหนักแค่ไหนrnส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือพายุปาบึก ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำชับอำเภอที่มีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยให้เฝ้าระวังคลื่นสูง 3-5 เมตร เรือประมงห้ามออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 3-6 ม.ค. ส่วนอำเภอโซนภูเขาให้เฝ้าระวังฝนตกสะสมเสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่ม ให้รีบอพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์อพยพชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ประสบภัย ขณะที่วันนี้ตลอดทั้งวัน ชาวประมงพื้นบ้านพากันลากเรือประมงขึ้นมาบนฝั่งจำนวนมาก เช่นเดียวกับเจ้าของเรือประมงขนาดใหญ่ได้สั่งการให้ลูกเรือนำเรือเข้าฝั่งทั้งหมดเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากฤทธิ์ของพายุปาบึก
นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี เผยภายหลังร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่า จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ที่สำนักงาน ปภ.จังหวัด เพื่อระดมกำลังทรัพยากรบริหารจัดการ แจ้งเตือนให้อำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุ จัดเตรียมเรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. ส่วนบรรยากาศที่ปากอ่าวดอนสัก เรือประมงขนาดกลางต่างทยอยเดินทางเข้ามาจอดหลบพายุในร่องน้ำปากอ่าว ขณะที่เรือประมงขนาดใหญ่อยู่ระหว่างเดินทางกลับเข้าฝั่ง คาดว่าจะมีเรือประมงกว่า 500 ลำ เข้ามาจอดหลบพายุที่ปากอ่าวดอนสัก ส่วนเรือโดยสารข้ามฟากไปเกาะสมุยและเกาะต่างๆ งดเดินเรือตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 3 ม.ค. เช่นเดียวกับเรือนอนโดยสารขนาด 150 ที่นอน วิ่งระหว่างสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า หยุดให้บริการชั่วคราวไม่มีกำหนด
ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก นพ.เชิดชาย ชยวัฒโฒ ผอ.รพ.บางสะพาน เผยว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คาดว่าอาจจะต้องย้ายผู้ป่วยวิกฤติหนัก 7-8 ราย หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นถึงจุดวิกฤติ หากระดับน้ำในคลองวังยาวสูงถึง 4.50 ม. จะต้องย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนผู้ป่วยที่จะอยู่ต่อจะย้ายขึ้นตึก 6 ชั้น และหากระดับน้ำสูง 5.50 ม. จะงดให้บริการห้องผ่าตัดและห้องฉุกเฉิน แต่ยังให้บริการตรวจโรคทั่วไป วันที่ 3 ม.ค. จะเริ่มเคลียร์คนไข้ คนไหนกลับบ้านได้จะให้กลับ และจะประสานกับ ปภ. และ ตชด.เตรียมการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วย
ที่มา ไทยรัฐ