วัคซีน ป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ตอนนี้ทั่วโลกยึดเป็นวัคซีนหลัก เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการหลบภูมิของโควิด-19
มีความเคลื่อนไหวเรื่องวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ตอนนี้ทั่วโลกยึดเป็นวัคซีนหลัก เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการหลบภูมิของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ดีที่สุดในขณะนี้ แต่ก็มีคำถามตามมาถึงผลข้างเคียงในระยะยาวที่เกิดขึ้น เพราะ mRNA เป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ ที่เพิ่งนำมาใช้ครั้งแรกกับสถานการณ์โควิด-19 เราจะมาย้อนดูไทม์ไลน์และข้อมูลของวัคซีนชนิดนี้กันนับตั้งแต่วันแรก
ย้อนกลับไปวันที่ 31 มกราคม หรือ วันสิ้นปี 2562 ทั่วโลกรับรู้ถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นครั้งแรก หลังพบผู้ติดเชื้อในมณฑลอู่ฮั่นประเทศจีน นับตั้งแต่นั้นจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นจนสะสมเกินกว่า 669 ล้านคน
แม้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจากหลายประเทศทั่วโลกจะเน้นหลักการใส่หน้ากากอนามัยและ Social Distacing จนวิถี New normal กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้ไวรัสชนิดนี้หยุดยั้งการแพร่ระบาดลงได้
กระทั่งช่วงเดือนมีนาคมบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งทั่วโลกเริ่มพัฒนาวัคซีน ออกมาหลายชนิด ทั้งชนิดเชื้อตาย โปรตีนพืช ไวรัสเป็นพาหะ และ mRNA ซึ่งถือเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก อนุมัติให้ใช้งานได้ทันทีภายในภาวะฉุกเฉิน
ผ่านมา 3 ปี เหลือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันการหลบภูมิ ของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดในตอนนี้ได้เพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์และโมเดอนาร์ ที่ราวร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าลดลงมามากจากเดิมที่เคยป้องกันได้กว่าร้อยละ 90
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ศึกษาผลข้างเคียงทั้งอาการเบื้องต้น และ โรครุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนชนิด mRNA เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคลิ่มเลือดอุดตัน ไปจนกระทั่งเป็นสาเหตุการกระตุ้นของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หรือไม่ เนื่องจากปกติแล้วกระบวนการผลิตวัคซีนต้องอาศัยระยะเวลาการติดตามผลอย่างน้อย 1 ปี
ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เป็นการฉีดชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างโปรตีนภูมิคุ้มกันขึ้นในส่วนหนาม หรือส่วนสไปค์ แล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา จนทำให้เกิดความกังวลถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมาในระยะยาวหรือไม่
ปัจจุบันทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว กว่า 13,247 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 5 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 65.4 ของประชากรทั่วโลก
ขณะที่ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว กว่า 144,570,456 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 1 เข็ม 53,673,080 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.17 ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีวัคซีนหลักเป็นแอสตราเซเนกา ที่เป็นชนิดไวรัสเป็นพาหะ และ ไฟเซอร์ ที่เป็น mRNA
ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- องค์การอนามัยโลกชี้ทั่วโลกติดเชื้อโรคฝีดาษลิงแล้ว 18,000 คนใน 78 ประเทศ
- ประเทศไทยและทั่วโลก ระงับเที่ยวบิน-กักตัว สกัด“โอไมครอน”โควิดกลายพันธุ์ที่ “ร้ายที่สุด”
- ศูนย์ฉีดสถานีกลางบางซื่อเปิดลงทะเบียนฉีด AZ+PZ เข็มแรก ทำยังไงเช็กเลย !
- ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันนี้ ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน!
- แจ้งความคืบหน้า วัคซีนโมเดอร์นา เข้าไทย
ท่ามกลางความกังวลในข้อสงสัยของวัคซีนโควิด-19 ข่าว3มิติ ได้หาคำตอบมาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ที่แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาศึกษามากกว่านี้ แต่นี่ก็เป็นความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้ศึกษาข้อมูลการใช้วัคซีนและโรคโควิด-19 มานับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด ถึงงานวิจัยและข้อมูลที่เกิดขึ้นในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา
นายแพทย์อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ทั้งที่ตีพิมพ์แล้ว และ อยู่ระหว่างรอตีพิมพ์ มาเปิดเผยกับข่าว 3 มิติ เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจตามมาหลังได้รับวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ทั้งการแพร่กระจายของโปรตีนภูมิคุ้มกันที่ไปทั่วร่างกาย จนเป็นพิษต่อต่อมน้ำเหลือง และ การพบกลุ่มอาการภาวะหัวใจอักเสบ
ข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน จากกรมควบคุมโรค ระบุ ไทยพบผู้มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จากวัคซีนจริง ในจำนวน 52 คน โดยเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนจากไฟเซอร์จำนวน 49 คน และในจำนวนนี้มี 1 คน เสียชีวิต
ศาตราจารย์แพทย์หญิง กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ระบุว่า อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง แต่ก็อยู่ในจำนวนที่น้อยมาก หากพิจารณาจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมดกว่า 142 ล้านโดส ซึ่งเป็นไฟเซอร์ประมาณ 48 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.11 ใน 1 ในแสนคน หรือ 1 ในล้านคนเท่านั้นที่จะเกิดอาการ
ส่วนสิ่งที่สังคมตั้งคำถามถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองว่าเป็นไปได้หรือไม่ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา ระบุว่า จากงานวิจัยและข้อมูลอัตราการเกิดของโรคระหว่างก่อนและหลังฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ต่างจากเดิม หรือ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ระบุ ข้อเท็จจริงของการทำวัคซีนตามหลักสากล จำเป็นต้องติดตามผลเป็นระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป ขณะที่เทคโนโลยีใหม่อย่าง mRna มีข้อมูลย้อนหลังเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งจากการติดตามงานวิจัยในรอบปีที่ผ่านมายังไม่พบสิ่งที่น่าเป็นกังวล เนื่องจากยังไม่พบความเชื่อมโยงที่กล่าวอ้างได้ แต่สิ่งที่น่าจับตาคือโรคที่ตามมาจากภาวะลองโควิดมากกว่า
ดร.อนันต์ เปิดเผย ความเป็นไปได้หนึ่งที่นักวิจัยจากฝรั่งเศสค้นพบ คือ ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีน mrna ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเข็มที่ 3 และ 4 เมื่อฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 9 แสนคน สอดคล้องกับงานวิจัยของเยอรมันที่พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิด mrna ซ้ำกันหลายเข็มจะทำให้แอนติบอดี้มีประสิทธิภาพลดลงเช่นกัน
ความเห็นทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปถึงผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA เนื่องจากโควิด-19 ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ และ เพิ่งมีการปรับใช้วัคซีนกับโรคนี้ จึงต้องอาศัยระยะเวลาติดตามผลต่างๆ อีกอย่างน้อย 5-10 ปีต่อจากนี้ ก่อนจะปักใจเชื่อได้ว่าการใช้วัคซีน mRNA มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์หรือไม่