มาตรการที่ว่านี้เป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ซึ่งประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ใครก็ตามที่ปฏิเสธวัคซีนจะถูกตัดสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
อิเหนา ขู่ปรับหนัก! พวกไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
มาตรการที่ว่านี้เป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ซึ่งประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ใครก็ตามที่ปฏิเสธวัคซีนจะถูกตัดสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือไม่ก็ต้องเสียค่าปรับ โดยมอบหมายให้หน่วยงานสาธารณสุขหรือฝ่ายบริหารท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการตามความเหมาะสม
อะหมัด ริซา ปาเทรีย รองผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำตามกฎ และบทลงโทษดังกล่าวจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ถูกนำมาใช้
เมืองหลวงของอินโดนีเซียมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมราวๆ 1 ใน 4 จากทั้งหมดกว่า 1.2 ล้านคนทั่วประเทศ
“หากท่านไม่ยอมมาฉีดวัคซีน ผลที่จะได้รับมีอยู่ 2 อย่างคือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมจากรัฐอีกต่อไป และจะถูกสั่งปรับด้วย” ริซา ให้สัมภาษณ์
ประชากรอิเหนาเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้วเกือบ 34,000 คน ขณะที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อเดือนที่แล้ว โดยตั้งเป้าสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้แก่ประชากร 181.5 ล้านคน จากทั้งหมด 270 ล้านคน ภายในระยะเวลา 15 เดือน
“การตัดสิทธิ์รับความช่วยเหลือถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะกระตุ้นให้ประชาชนร่วมมือ” ซีตี นาเดีย ตาร์มิซี เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุ พร้อมกับย้ำว่า “เป้าหมาย 181.5 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”
ทั้งนี้ พลเมืองอิเหนาบางส่วนยังเคลือบแคลงสงสัยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นปลอดภัย, มีประสิทธิภาพ รวมถึง “ฮาลาล” หรือเป็นที่อนุญาตตามหลักศาสนาอิสลามหรือไม่
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนแสดงความเป็นห่วงว่าความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดชวาตะวันตกซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด รวมถึงจังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก บอกกับรอยเตอร์ว่าพวกเขายังไม่มีแผนที่จะใช้บทลงโทษเหล่านี้
ผลสำรวจโดยสถาบันวิจัย ไซฟุล มูจานี เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วพบว่า มีชาวอินโดนีเซียเพียง 37% จาก 1,202 คนที่ตอบแบบสอบถาม “เต็มใจ” เข้ารับวัคซีน ขณะที่ 17% ปฏิเสธการรับวัคซีน และอีก 40% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ
อุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำอินโดนีเซีย ระบุว่า การบังคับฉีดวัคซีนไม่ใช่คำตอบ และยิ่งมีการออกบทลงโทษสำหรับผู้ที่ปฏิเสธด้วยแล้ว ยิ่งถือว่าเข้าข่าย “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ที่มา: mgronline.com