เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่ากล่าวหากลุ่มติดอาวุธ และบรรดาผู้สนับสนุนขัดขวางการส่งกลับชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คน ที่หลบหนีการปราบปรามในปี 2560
พม่าแจงกลุ่มติดอาวุธ ขัดขวางโรฮิงญากลับประเทศ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่ากล่าวหากลุ่มติดอาวุธ และบรรดาผู้สนับสนุนขัดขวางการส่งกลับชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คน ที่หลบหนีการปราบปรามในปี 2560 และอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศตอนนี้
จ่อ ติน ส่วย รัฐมนตรีประจำสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าวว่า กลุ่มติดอาวุธ กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA) และกลุ่มติดอาวุธกองทัพอาระกัน (AA) ใช้บังกลาเทศเป็นแหล่งหลบภัยเพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลพม่า ในการกล่าวแถลงที่บันทึกไว้ล่วงหน้าต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่จัดประชุมออนไลน์เป็นครั้งแรกเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ด้านนักการทูตบังกลาเทศ ใช้สิทธิตอบกลับในที่ประชุม ปฏิเสธถ้อยแถลงของพม่า โดยกล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งการกล่าวเท็จอย่างโจ่งแจ้ง และปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าบังกลาเทศเป็นที่หลบภัยของผู้ก่อการร้ายจากพม่า
บังกลาเทศได้กล่าวหาพม่าว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา และเรียกร้องให้ย่างกุ้งอนุญาตให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในระดับนานาชาติยังสถานที่จริง และให้รับพลเมืองของตนเองกลับประเทศภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย
วิกฤตโรฮิงญาที่คุกรุ่นยาวนานระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 เมื่อทหารพม่าดำเนินการสิ่งที่ระบุว่าเป็นปฏิบัติการกวาดล้างในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ตอบโต้สิ่งที่พม่ากล่าวว่าเป็นการโจมตีของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA) การดำเนินการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากไปยังบังกลาเทศ และกองกำลังความมั่นคงของพม่าถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุรุมโทรมข่มขืน สังหารหมู่ และเผาบ้านเรือนประชาชนหลายพันหลัง และเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลยังเข้ามาพัวพันในความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งคือ กองทัพอาระกัน
ติน ส่วย กล่าวว่า พม่าต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับบังกลาเทศและยังมุ่งมั่นที่จะรับผู้ลี้ภัยที่ผ่านการตรวจสอบกลับประเทศโดยสมัครใจ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี ตามที่เรียกร้องในข้อตกลงทวิภาคีเดือน พ.ย.2560
นอกจากนี้ ติน ส่วย ได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่กล่าวหารุนแรงต่อพม่า และอ้างว่าพม่ามีความผิดโดยไร้ซึ่งกระบวนการทางกฎหมาย และการไต่สวนคดีจากหลักฐานจริง
เมื่อเดือน ธ.ค.สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองมติประณามทางการพม่ากรณีละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ และในเดือน ม.ค. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ มีคำสั่งให้พม่าดำเนินการทุกวิถีทางในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
สองวันก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอิสระที่จัดตั้งโดยรัฐบาลพม่าได้สรุปว่ามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่ากองกำลังความมั่นคงได้ก่ออาชญากรรมสงครามในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบต่อชาวโรฮิงญา แต่ไม่ใช่การฆ่าล้าเผ่าพันธุ์
ที่มา: mgronline.com
- โควิดเมียนมาวิกฤตหนัก! สั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศไม่มีกำหนด
- เล่านาทีระทึก! เรือล่มกลางเจ้าพระยา กัปตันตัดสินใจถูก 75 ชีวิตรอดหวุดหวิด
- คนสนิทร่วมพิธีฝัง “นาธาน โอมาน” อดีตนักร้องชื่อดัง
- อาเจะห์ช่วยผู้ลี้ภัยโรฮิงญา แม้จำต้องฝ่าฝืน COVID-19
- 'โรฮิงญา' ไม่พอใจ 'ซูจี' ให้การเท็จ
- เมียนมายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านยะไข่ เพียง2วันหลังศาลโลกให้ปกป้องโรฮิงญา