สำนักข่าวของบีบีซีรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้เปิดเผยผ่านวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน ระบุว่าไอน้ำที่พวยพุ่งจากดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) บริวารของ “ดาวเสาร์” ในมหาสมุทรส่วนขั้วใต้
มีสารอินทรีย์หลายชนิดที่มีทั้งไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีโอกาสจะก่อเกิดสิ่งมีชีวิตและมีความเป็นไปได้สูง
ทีมนักชีวดาราศาสตร์ของนาซาระบุว่า สารอินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างโปรตีน อันเป็น สารตั้งต้น ที่ให้กำเนิดสรรพชีวิต
ทั้งนี้ มหาสมุทรใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัส ซึ่งมีความกว้างใหญ่ครอบคลุมทั้งดาวและลึกหลายกิโลเมตรนั้น ได้รับความร้อนจากแกนกลางของดาว
โดยแรงดึงดูดมหาศาลจากดาวเสาร์บีบให้แกนกลางของเอนเซลาดัสเกิดความร้อนขึ้น รอยแตกที่ก้นมหาสมุทรของเอนเซลาดัส ปล่อยให้หินหนืดหรือแมกมาไหลออกมาสัมผัสกับน้ำ
จนบริเวณดังกล่าวอาจมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 370 องศาเซลเซียส และเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ปล่องน้ำร้อนก้นมหาสมุทรปลดปล่อยไฮโดรเจนออกมา
กระบวนการนี้สามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต และเกื้อหนุนให้จุลชีพบางชนิดดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับจุลชีพผลิตมีเทนซึ่งอาศัยอยู่ที่ก้นมหาสมุทรบนโลก