นำส่งดาวเทียมในภารกิจ ไรด์แชร์ หรือ เอสทีพี-ทู ประกอบด้วยดาวเทียม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ว่าจรวดฟอลคอน เฮฟวี ทะยานขึ้นจากฐานหมายเลข 39เอ ซึ่งเป็นฐานเดียวกับที่ใช้ปล่อยยานอวกาศอะพอลโล 11 ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคันนาเวรัล ทางตะวันออกของรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 02.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังคารที่ผ่านมา ( 13.30 น. ของวันอังคารตามเวลาในประเทศไทย )
โดยจรวดซูเปอร์จัมโบ้ขนาด 27 เครื่องยนต์ ซึ่งมีความสูง 70 เมตร และกว้าง 12.2 เมตร เทียบเท่าอาคารพาณิชย์สูง 23 ชั้น เพื่อนำส่งดาวเทียมในภารกิจ ไรด์แชร์ หรือ เอสทีพี-ทู ประกอบด้วยดาวเทียม 24 ดวง ทั้งดาวเทียมสำรวจโลกและดาวเทียมสอดแนม จากทั้งของสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมถึง 3 ชั่วโมงในวันอังคาร หลังเลื่อนจากกำหนดการครั้งแรกคือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่แม้จรวดขับดันหรือบูสเตอร์2 เครื่องสามารถร่อนกลับมาลงจอดบนฐานภาคพื้นดินได้สำเร็จ แต่เป็นครั้งแรกที่บูสเตอร์เครื่องที่ 3 กลับพลาดเป้าลงจอด
โดยตกลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ทีมงานสามารถเก็บกู้ได้แล้ว ด้านนายอีลอน มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของสเปซเอ็กซ์ ยอมรับว่าภารกิจครั้งนี้ "ยากที่สุด" แม้เป็นการใช้งานจรวดฟอลคอน เฮฟวี เป็นครั้งที่ 3
ขณะที่ศูนย์อวกาศและระบบขีปนาวุธของกองทัพสหรัฐรายงานว่าดาวเทียมทั้ง 24 ดวง ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจร อนึ่ง ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐใช้บริการส่งดาวเทียมหรือฮาร์ดแวร์อื่น ด้วยจรวดทีผ่านมาการใช้งานมาแล้ว.