แพทย์ รพประจวบคีรีขันธ์ เผยภัยเงียบอุทาหรณ์ของผู้ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง เป็นโรคที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ที่อาจไม่มีอาการ และแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
วันที่ 28 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเพจ “Arak Wongworachat” เผยเคสอุทาหรณ์ของผู้ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ที่ถ้าเกิดรักษาไม่ทัน ทำให้เสี่ยงพิการและเสียชีวิตได้
โดยคุณหมอ ระบุว่า "โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ทำให้พิการ เสียชีวิต ได้ทันที หากรักษาไม่ทันท่วงที" ผู้ป่วยน่าสนใจ เพศชาย อายุ 32 ปี น้ำหนักประมาณ 170 กิโลกรัม ญาติให้ประวัติว่าขณะนั่งรับประทานอาหารเช้า มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงทันทีทันใด เหมือนมีอะไรเข้าไปอยู่ในศีรษะ พูดจาสับสน ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง จนต้องล้มตัวลงนอนกับพื้น
ญาติที่นั่งอยู่ด้วยตกใจอย่างมาก รีบช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการ บีบนวดตามแขนขา ผู้ป่วยเริ่มไม่พูด เอามือกุมศีรษะตลอดเวลา จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที แพทย์ห้องฉุกเฉินประเมินอาการเบื้องต้น สงสัยมีภาวะผิดปกติทางสมอง วัดความดันสูงมาก 200/120 mmhg ไม่เคยรักษามาก่อน คิดว่าอายุน้อย คงไม่มีโรคความดันโลหิตสูง ให้การดูแลเบื้องต้น ให้ยาลดความดัน ช่วยการหายใจ ส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทันที
"จากภาพรังสีพบว่ามีเส้นเลือดในสมองโป่งพอง เส้นเลือดปริแตก มีเลือดกระจายไปสู่เนื้อสมอง ขยายเป็นวง รอบเส้นเลือดที่แตก ปรึกษา ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง เตรียมการผ่าตัดในทันที ก่อนที่เลือดออกในเนื้อสมองมากขึ้น จะส่งผลให้เนื้อสมองขาดเลือดเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้"
ภายในเวลา 30 นาที ต่อมา ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ แพทย์ใช้เทคนิคการผ่าตัด ใส่เครื่องมือเข้าไปในจุดที่เส้นเลือดโป่งพองแตก ใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (clipping) เป็นวิธีการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพองอีก การผ่าตัดสมองต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน การผ่าตัดสำเร็จด้วยดี
หลังผ่าตัดติดตามอาการ ใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ทำตามสั่งได้ ไม่สับสน ไม่มีอาการอ่อนแรง นับเป็นการรักษาที่ประสบความสำเร็จ ด้วยความพร้อมของทีม มีเครื่องมือที่เพียงพอ การจัดการของทีมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยไม่ชักช้า
การตรวจและวินิจฉัยเส้นเลือดโป่งพองในสมอง?
โรคนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ โดยการตรวจอาศัยการถ่ายภาพรังสีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography)
การรักษาเส้นเลือดสมองโป่งพอง
แพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเส้นเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุ และสุขภาพของผู้ป่วยด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองในสมองจะมีวิธีการรักษา ดังนี้
1. การใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (Microsurgical Clipping) เป็นวิธีการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพอง เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขยายมากขึ้นจนอาจเกิดการแตกออกของเส้นเลือดได้
2. การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) เป็นทางเลือกการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการทำหัตถการผ่านหลอดเลือดโดยใช้สายสวนสอดเข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ ไปยังหลอดเลือดก่อนถึงตำแหน่งโป่งพอง แล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดที่โป่งพองนั้น ซึ่งจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านเข้าไปในจุดที่โป่งพองหยุดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดขึ้นภายในทำให้จุดโป่งพองนี้อุดตันและไม่เกิดเลือดออกซ้ำอีก สามารถทำได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตก และภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกแล้วมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
3. การผ่าตัดสมอง เพื่อปิดซ่อม ผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง หากมีก้อนเลือดในสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในเนื้อสมองออก
4. ในกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดเล็ก มีโอกาสในการแตกต่ำมาก จะใช้วิธีตรวจติดตามด้วยเครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นระยะๆ และเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะทำการรักษา