จับตา "กฎหมายพิเศษ" ในชายแดนใต้ หลังต่ออายุ พรกฉุกเฉินฯ 1 เดือน
จับตา "กฎหมายพิเศษ" ในชายแดนใต้ หลังต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน
การขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไป 1 เดือน ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 73 หลังจากเริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548 พร้อมยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อีกหนึ่งท้องที่
การขยายระยะเวลาซึ่งนายกฯ ลงนามในประกาศ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. โดยให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-19 ต.ค. 2566 นับเป็นการต่ออายุที่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่รัฐบาลจะขยายเวลาการบังคับใช้ครั้งละ 3 เดือน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่า ทิศทางของเรื่องนี้จะดำเนินไปในทิศทางที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น และเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น แต่จะดีขนาดไหน ขอให้รอฟังจากฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้แถลง
ทั้งนี้ ประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมในพื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เป็นไปตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
อ.กะพ้อ ของ จ.ปัตตานี เป็นอำเภอที่ 11 ที่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ใน อ.กะพ้อ เป็นภาวะที่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถควบคุม ระงับยับยั้ง และแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว
พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 11 อำเภอ ประกอบไปด้วย
จ.นราธิวาส รวม 4 อำเภอ ได้แก่ ศรีสาคร, สุไหงโก-ลก, แว้ง และ สุคิริน
จ.ปัตตานี รวม 5 อำเภอ ได้แก่ ยะหริ่ง, มายอ, ไม้แก่น, กะพ้อ และแม่ลาน
จ.ยะลา รวม 2 อำเภอ ได้แก่ เบตง และ กาบัง
ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 11 อำเภอ แต่ยังมีกฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับ
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีการบังคับใช้ "กฎหมายพิเศษ" หรือ "กฎหมายความมั่นคง" ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย ทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และกฎอัยการศึก หรือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
แม้จะมีทิศทางที่ดีที่มีการต่ออายุการใช้กฎหมายพิเศษออกไปเพียง 1 เดือน แต่การบริหารปกครองในจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับที่ให้อำนาจฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าในบรรดาพื้นที่ที่ยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็น 4 อำเภอของ จ.สงขลา และบางส่วนของ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ยังพบว่า พื้นที่เหล่านี้ยังถูกบังคับใช้ด้วย "กฎหมายพิเศษ" ฉบับอื่น คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์ต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งฉบับล่าสุด มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 และกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.
นั่นหมายความว่า แม้พื้นที่เหล่านี้จะถูกยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว ก็ตาม แต่ยังปรากฏว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่ “กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”
สำหรับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายความมั่นคงที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน
กฎหมายฉบับนี้ นายกฯ มีอำนาจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะ มีอำนาจประกาศห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือเคอร์ฟิว ห้ามการชุมนุมหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะที่กำหนด ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใด ๆ หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน
ขณะที่กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอีกฉบับ ให้อำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการตรวจค้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นตัวบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ตรวจข่าวสาร จดหมายสิ่งพิมพ์ การเกณฑ์พลเมือง ห้ามการชุมนุมมั่วสุม ห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์ วิทยุ ทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลไว้ไม่เกิน 7 วัน เพื่อซักถาม หากบุคคลได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ
ส.ส.ก้าวไกล ชี้รัฐยังมี "การ์ดอีกหลายใบ" และทหารยังมีอำนาจเต็มตามกฎอัยการศึก
ก่อนหน้านี้องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม 35 องค์กร แถลงเรียกร้องให้ ครม.นายเศรษฐา ไม่มีมติต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และแสดงเจตจำนงทางการเมืองต่อพันธกรณีระหว่างประเทศต่อหน้าที่ประชุมสหประชาชาติ ในเดือน ก.ย. ว่า นับแต่นี้รัฐบาลจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
"โดยเฉพาะในการยุติการควบคุมตัวโดยพลการตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง รวมทั้งการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ที่ไม่ได้ประกาศไว้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและยุติการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่ทารุณอื่น ๆ ในทุกบริบท ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำการละเมิดมารับโทษ และเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย" แถลงการณ์ระบุ
การใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกมองจากองค์กรสิทธิฯ ตลอดมาว่า เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการตรวจค้น ควบคุมตัว ทั้งมีการจับกุมโดยไม่เคยพาผู้ถูกควบคุมตัวไปศาล ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า อาจยาวนานถึง 37 วัน เมื่อรวมระยะเวลาตามอำนาจของกฎอัยการศึกและกระบวนการกฎหมายอาญาปกติของการยื่นฝากขังต่อศาล
นายรอมฎอน ปันจอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ชี้ว่า หากการลดระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการเตรียมความพร้อมนำไปสู่การยกเลิกการบังคับใช้ทุกอำเภอในอีก 1 เดือน บรรดากลไกและมาตรการด้านความมั่นคงต่าง ๆ จะได้รับการยกเลิกหรือทบทวนหรือไม่ รวมทั้ง "ศูนย์ซักถาม" ตามค่ายทหารที่ตั้งทางทหาร ด่านตรวจความมั่นคง ที่อยู่เต็มพื้นที่
ส.ส.ก้าวไกล จากปัตตานี ทิ้งคำถามไว้ว่า ทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะรัฐอาจนำกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาบังคับใช้แทน
"ปัญหาของชายแดนใต้คือเจ้าหน้าที่มีการ์ดหลายใบ มีกฎหมายพิเศษซ้ำซ้อนหลายฉบับหลายขยัก จากคำให้สัมภาษณ์ของคีย์แมนของรัฐบาลเศรษฐา (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ) ดูเหมือนจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ เข้ามาทดแทน เหมือนกับ 4 อำเภอของสงขลา"
อย่างไรก็ดี รอมฎอน ระบุประเด็นสำคัญด้วยว่า กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเต็มกับทหารยังคงอยู่ และตั้งคำถามว่าจะยกเลิกในส่วนนี้หรือไม่
"กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจทหารที่ไร้การตรวจสอบมากกว่าก็ยังคงมีอยู่คลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) คำถามก็คือว่า กฎอัยการศึก จะยกเลิกด้วยหรือไม่ จะยกเลิกเมื่อไหร่" เขากล่าว
"หากนี่คือมูฟของรัฐบาลพลเรือนที่ประสงค์จะทำจริง ก็ต้องชื่นชมและสนับสนุน ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่ทรงพลังอย่างมาก แม้ว่าทางทหารและตำรวจบางส่วนอาจจะเริ่มกังขาและคับข้องใจ"
จังหวัดชายแดนใต้ภายใต้กฎหมายความมั่นคง
ประสบการณ์การใช้ชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฎหมายพิเศษ แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทย
ซูกริฟฟี ลาเตะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) องค์การนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้ เคยบอกเล่าชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ ระหว่างการชุมนุมราษฎรที่กรุงเทพฯ ในปี 2563 ว่า ทหารเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตลาด มัสยิด หรือโรงเรียน ประชาชนถูกขอถ่ายรูปบัตรประชาชนเวลาผ่านด่านทหารหรือแค่ซื้อซิมมือถือ
ซูรัยยา วาหะ นักกิจกรรมหญิงมุสลิม ยังบอกเล่าถึงความเป็นไปในจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะในปีเดียวกันว่า "หลาย ๆ เรื่องเจ้าหน้าที่หรือทหารสามารถใช้กฎหมายสองฉบับนี้กับคนในพื้นโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนและโดยไม่มีเหตุผล เมื่อเกิดความรุนแรง ไปหาชาวบ้าน ไม่มีหมายศาล ไม่มีใบแจ้งความทางกฎหมายอย่างชัดเจน แต่อ้างโดยใช้กฎหมายพิเศษ อ้างโดยใช้กฎอัยการศึกเข้ามาตรวจค้นบ้าน เข้ามาจับกุมคนไปสอบสวน"
นอกจากนี้ ภายใต้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วันได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล บุคคลที่ควบคุมตัวตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัย ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา ในสถานที่ที่เรียกว่า "ศูนย์ซักถาม" อยู่ภายใต้หน่วยงานความมั่นคงของทหารในชายแดนใต้ เช่น ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
เมื่อเดือน ต.ค. 2562 นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผอ.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายกระบวนการทางคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับบีบีซีไทยว่า ขั้นตอนแรกตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่สามารถเอาตัวผู้ต้องสงสัยไปโดยไม่ต้องมีหมาย ไม่มีสิทธิได้พบกับทนาย มีการย้ายสถานที่เพื่อไม่ให้ญาติทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว โดยกฎอัยการศึกให้ควบคุมตัวไว้ได้ 7 วัน หลังจากนั้นหากควบคุมตัวต่อต้องมีหมายศาล โดยอ้างกับศาลว่ามีพยานหลักฐานแล้ว
ทนายอับดุลกอฮาร์กล่าวว่าคดีในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ เนื่องจากผู้เห็นเหตุการณ์ไม่กล้าที่จะให้การในฐานะพยาน กรณีมีการเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ดีเอ็นเอ และลายนิ้วมือแฝง แบบนี้ไม่น่ากังวล แต่คดีที่ไม่มีหลักฐานเหล่านี้เลย ก็กลายเป็นว่าสามารถที่จะมีได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการซัดทอดได้
"พอผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการซักถาม ส่วนใหญ่ที่เราเจอคือจะสารภาพในชั้นกระบวนการซักถาม ซึ่งพอสารภาพในชั้นซักถามก็จะไปซัดทอดบุคคลอื่นอีกหลาย ๆ คน ซึ่งอาจจะมีชื่ออยู่ก่อนแล้วก็ได้" ทนายอับดุลกอฮาร์ระบุ
ที่มา : https://www.bbc.com/thai