ทึ่ง! ซากวาฬดึกดำบรรพ์อายุ 40 ล้านปี ผุดในเปรู คาดล้มแชมป์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทึ่ง! ซากวาฬดึกดำบรรพ์อายุ 40 ล้านปี ผุดในเปรู คาดล้มแชมป์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบซากวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ในเปรูที่มีชื่อว่า “เปรูซีตัส โคลอสซัส” (Perucetus colossus) ในกลุ่มบาซิโลซอรัส (Basilosauridae) ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 38-40 ล้านปีก่อนในยุคสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch) ที่กลายเป็นผู้ท้าชิงรายใหม่สำหรับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกและอาจล้มแชมป์ปัจจุบันอย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งครองตำแหน่งดังกล่าวมาอย่างช้านาน
นักวิจัยคาดการณ์ว่า เปรูซีตัส หรือ “วาฬเปรูขนาดมหึมา” (colossal Peruvian whale) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพะยูน มีความยาวประมาณ 20 เมตร และหนักถึง 340 เมตริกตัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เรารู้จัก รวมทั้งวาฬสีน้ำเงินและเหล่าไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอื่นๆ ด้วย
จีโอวานนี เบียนุชชี นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยปีซ่า (the University of Pisa) ในอิตาลี นักเขียนหลักของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า ลักษณะที่โดดเด่นของสัตว์ชนิดนี้คือน้ำหนักอันมหาศาลของมัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิวัฒนาการสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเหนือจินตนาการของเราได้
โดยมีการประเมินมวลร่างกายขั้นต่ำของเปรูซีตัสอยู่ที่ 85 ตัน ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 180 ตัน ขณะที่วาฬสีน้ำเงินตัวใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสำรวจพบมีน้ำหนักประมาณ 190 ตัน และมีความยาว 33.5 เมตร ซึ่งยาวกว่าวาฬโบราณที่เพิ่งถูกขุดพบ น้ำหนักที่มหาศาลนั้นยังเหนือกว่า อาร์เจนติโนซอรัส (Argentinosaurus) หรือไดโนเสาร์กินพืชสี่ขาคอยาวที่อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อนในอาร์เจนตินา และได้รับการจัดอันดับในงานวิจันที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีน้ำหนักประมาณ 76 ตัน
โดยโครงกระดูกบางส่วนของเปรูซีตัสถูกขุดพบในทะเลทรายบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของเปรู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยฟอสซิลของวาฬ นักวิจัยสามารถขุดกระดูกสันหลัง 13 ชิ้น กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก 1 ชิ้น ซึ่งกระดูกที่มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่ค่อยพบเจอเหล่านี้มีทั้งความหนาและความอัดแน่นของมวลกระดูกอย่างมาก สอดคล้องกับลักษณะที่เรียกว่า “พาชีโอสตีโอสเคลอโรซิส” (pachyosteosclerosis) ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำพวกพะยูนและแมนนาที แต่ไม่พบในสัตว์จำพวกวาฬที่มีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงโลมา และพอร์พอยส์ ขณะที่ลำพังโครงกระดูกของเปรูซีตัสนั้นก็มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 8 ตัน มากกว่าของวาฬสีน้ำเงินอย่างน้อยสองเท่า
อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่พบซากกระโหลกศีรษะหรือฟัน ทำให้การศึกษาด้านอาหารการกินและวิถีชีวิตของเปรูซีตัสมีความยากมากขึ้น ด้านนักวิจัยข้อสมมติฐานว่า วาฬดึกดำบรรพ์ชนิดนี้อาจมีวิถีชีวิตคล้ายพะยูน ที่ไม่ใช่นักล่าที่ว่องไว แต่เป็นสัตว์ที่หากินใกล้ท้องทะเลบริเวณน้ำตื้นริมชายฝั่ง
โอลิวิเออร์ แลมเบิร์ต นักบรรพชีวินวิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติรอยัลเบลเจียน (the Royal Belgian Institute of Natural Sciences) ในบรัสเซลส์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเปรูซีตัสเป็นนักว่ายน้ำที่เชื่องช้าจากการที่มันมีโครงกระดูก รวมถึงมวลร่างกายที่มีน้ำหนักมาก ทั้งยังเป็นยักษ์ใหญ่ในทะเลที่รักสันติ คล้ายกับตัวแมนนาทีขนาดมหึมา
เบียนุชชีกล่าวว่า บางทีมันเป็นสัตว์กินพืชแบบพะยูน หรืออาจจะกินหอยขนาดเล็กและกุ้งบริเวณพื้นทรายอย่างพวกวาฬสีเทา ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัตว์กินซากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง คล้ายกับฉลามลำตัวใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่บางประเภท
ทั้งนี้ วาฬมีวิวัฒนาการมาประมาณกว่า 50 ล้านปี จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบเท้าที่เคยอาศัยอยู่บนบกและมีขนาดใหญ่พอๆ กับสุนัขขนาดกลาง โดยเปรูซีตัสยังคงมีขาหลังหลงเหลืออยู่
ที่มา : https://www.matichon.co.th/