สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ณ จังหวัดนราธิวาส
ปลื้มปิติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงโพกพระเศียรให้เกียรติมุสลิม เสด็จเยือนภาคใต้
ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ณ จังหวัดนราธิวาส ทรงฉลองพระองค์แจ็คเก็ตห้องเสื้อ Tirapan (คุณธีรพันธุ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาการออกแบบ) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมขิด ลายลูกแก้ว ปักตราพระนาม สร.ใต้จุลมงกุฏ ฉลองพระองค์ด้านในเป็นผ้าไหมเครป( silk crepe) ผูกโบว์ พระสนับเพลาผ้าบาติกแบบโบราณ ห้องเสื้อ Theatre(คุณศิริชัย ทหรานนท์) โพกพระเศียรแบบร่วมสมัย เพื่อให้เกียรติแด่พี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่มารอรับเสด็จฯ
ในการนี้ ระหว่างทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงชื่นชมผลงานหมวกกะปิเยาะลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ของกลุ่มอัลอิสลาม อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ว่ามีการปักลวดลายสวยงามลงตัว มีความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ได้เหมาะสม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลายผ้ามัดหมี่พระราชทาน และมีแนวคิดในการประยุกต์ใช้ลวดลายพระราชทาน ลงบนหมวกกะปิเยาะ ซึ่งแต่เดิมหมวกกะปิเยาะเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมในการสวมใส่หมวกของชาวอาหรับและในประเทศแถบมลายู ในอดีตที่ผ่านมาการผลิตหมวกกะปิเยาะเป็นการผลิตงานในครัวเรือน เริ่มต้นผลิต ในปี พ.ศ. 2517 ผลิตเป็นครั้งแรกในตำบลกะมิยอ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
โดยกลุ่มผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ไปรับจ้างเย็บหมวกกะปิเยาะอยู่ที่ซาอุดิอารเบียจนมีความชำนาญ และได้ริเริ่มนำจักรเย็บผ้า ที่เรียกว่าจักร PAFF กลับมาเย็บหมวกกะปิเยาะที่จังหวัดปัตตานี และได้รับความนิยมแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา หมวกกะปิเยาะเป็นหมวกที่ชาวไทยมุสลิมสวมใส่ประกอบศาสนกิจ (การประกอบพิธีละหมาด) และสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เกิดจากการนำผ้าหลาย ๆ ชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น เย็บด้วยผ้าหลายชนิดทับซ้อนกัน และจะมีลวดลายต่าง ๆ ที่หลากหลายบนตัวหมวก ฝีมือการผลิตประณีต มีลวดลายปักและฉลุหลากหลายรูปแบบ
โดยกลุ่มอัลอิสลาม มีสมาชิกกลุ่มเป็นเยาวชนที่ว่างงานในพื้นที่ ต.คลองมานิง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง การนำ แบบลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคาบสมุทรมลายู ได้อย่างสวยงาม เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า สืบสานรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
นายนิอิสมาแอ สะดากา ประธานกลุ่มอัลอิสลาม เปิดเผยว่า รู้สึกปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงใส่พระทัยต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความสอดคล้องตามพื้นฐานความเชื่อและอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงใส่พระทัยในรายละเอียด เห็นถึงคุณค่าของงานฝีมือ ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นของคนไทย และยังเข้าใจบริบทของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ตามหลักการ ความเชื่อ วัฒนธรรม ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระวินิจฉัยพร้อมพระราชทานคำแนะนำ แนวทางการพัฒนากรรมวิธี โดยทรงเน้นให้ผู้ผลิตใช้เทคนิคการปักลวดลายด้วยมือร่วมด้วย และเก็บรายละเอียดด้านในตัวหมวกให้มีความเรียบร้อย เสมือนกับการใช้เทคนิคการปักจักร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ สวยและทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้
ที่มา: www.matichon.co.th , we_love_thairoyalfamily, สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส