นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ พิจารณาการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักสากล และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีมติให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักสากล และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะพบว่าการจองตั๋วในตอนนี้มีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องทำนองว่าออกโปรโมชั่นจองก่อนแต่เนิ่น ๆ จะได้ตั๋วราคาถูก แต่หากมาซื้อตั๋วหน้าเคาน์เตอร์ หรือจองตั๋วในระยะเวลาใกล้ที่จะออกเดินทางจะมีราคาแพงกว่า
“กรณีดังกล่าวมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะระบบโลจิสติกส์ปกติ จะคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (distance rate) และน้ำหนัก (weight rate) เป็นหลัก และกำหนดแฟกเตอร์ตัวคูณที่เหมาะสม และยอมรับกันได้ จึงให้เวลา 1 เดือนในการดำเนินการประเด็นนี้”
นอกจากนี้ ให้ กพท.พิจารณาการจัดสรรเวลาการบิน (slot) ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศต้องมีความชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้การบริหารสลอตการบินจะมอบให้ บมจ.การบินไทย เป็นผู้บริหาร แต่หลังจากการบินไทยพ้นไปจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว กพท.ต้องเป็นผู้บริหารเอง
“โดยให้หลักการว่า สายการบินที่ใช้สลอตไม่เต็ม จะต้องเรียกคืนเพื่อนำมาบริหารให้กับสายการบินอื่นนำไปทำการบินได้จริง จะทำให้เกิดการบริหารการบินที่ได้ประโยชน์กับประเทศ โดยต้องคำนึงถึงผลตอบแทนด้วย เพราะการบริหารสลอตก็เป็นช่องทางในการบริหารรายได้ของรัฐด้วย ให้ กพท.จัดเวิร์กช็อปกับภาคอุตสาหกรรมการบิน และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ให้เสร็จใน 1 เดือนนี้”
และที่ประชุมมีมติรับทราบผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของสายการบินผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศ เพื่อการพาณิชย์แบบประจำ
โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับอันตราย จำนวน 8 บริษัท ประกอบด้วย บจ.ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต็อค, บมจ.การบินไทย, บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์, บจ.ไทย ไลอ้อน เมนทารี, บมจ.สายการบินนกแอร์, บจ.ซิตี้ แอร์เวย์, บจ.ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และ บจ.เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส
2.ระดับเฝ้าระวัง จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ, บจ.ไทยแอร์เอเชีย และ บจ.ไทย อีสตาร์เจ็ท
และ 3.ระดับปลอดภัย ไม่มี
โดย กบร.เห็นชอบแนวทางในการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตในแต่ละกลุ่ม กรณีที่อยู่ในระดับอันตราย กพท.จะให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเข้ามาชี้แจงรายละเอียดและทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อร่วมกันหารือทางออกและจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที
“หากผู้ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กพท.จะไม่พิจารณาจัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม ไม่อนุญาตให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติม และการจำกัดระยะเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในอนาคต”
ส่วนกรณีที่อยู่ในระดับเฝ้าระวัง กพท.จะสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตส่งข้อมูลการคาดการณ์สถานะทางการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พร้อมข้อสมมติในการคาดการณ์ และ กพท.ดำเนินการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของข้อสมมุติที่สำคัญกับแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก กพท.
นอกจากนั้น สั่งให้ กพท.ศึกษาและทบทวนแบบจำลองการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน เพื่อให้มีแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทย