เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูลเรื่องโลกที่หมุนเร็วขึ้นในปี 2563 ความว่า เดือนแรกของปี พศ 2564 กำลังผ่านพ้นไป
ตะลึง! เผยปี 2020 โลกหมุนเร็ว ทุบสถิติรอบ 50 ปี
วันที่ 26 ม.ค.64 เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูลเรื่องโลกที่หมุนเร็วขึ้นในปี 2563 ความว่า เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 กำลังผ่านพ้นไป หลายคนคงรู้สึกว่าเดือนมกราคม หรือกระทั่งแต่ละเดือนนับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2563 นั้นดูจะยาวนานกว่าปกติเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 อันหนักหน่วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วระยะเวลาหนึ่งวันบนโลกนั้นสั้นลง เพราะดาวเคราะห์อันเป็นที่อยู่อาศัยของเรานี้กำลังหมุนเร็วขึ้น! [Peter Whibberley, NPL in The Telegraph]
ปกติแล้ว การหมุนรอบตัวเองของโลกหนึ่งรอบหรือระยะเวลาหนึ่งวัน อยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่อัตราการหมุนของโลกจะค่อย ๆ ช้าลงเรื่อย ๆ เนื่องด้วยแรงเสียดทานการหมุนจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงอันเนื่องมาจากดวงจันทร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของของเหลวรอบแกนโลก
ในปัจจุบัน ระยะเวลาหนึ่งวันของเรานั้นยาวนานกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้วราว ๆ 0.0017 วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาสากล (Coordinated Universal Time) หรือ UTC ที่ทั้งโลกใช้เป็นหลักในการตั้งเวลาจะถูกปรับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก
การปรับเวลาดังกล่าวทำได้โดยการเพิ่มอธิกวินาที (Leap second) ในวินาทีสุดท้ายของเดือนมิถุนายน หรือเดือนธันวาคม หากตามติด ณ วินาทีนั้น จะสามารถเห็นตัวเลขบนหน้าปัดดิจิตัลของนาฬิกาสากล หลังจาก 23:59:59 เป็น 23:59:60 แทนที่จะเป็น 00:00:00 การเติมเวลานี้เกิดขึ้นทุกหนึ่งปีครึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
ครั้งล่าสุดที่อธิกวินาทีถูกเพิ่มเข้าไปในเวลาสากลคือเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 วินาทีสิ้นปีนั่นเอง [IERS Bulletin C (leap second announcements)]
อย่างไรก็ตาม นักมาตรวิทยาเวลาพบว่าในปี พ.ศ. 2563 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น มีจำนวนวันที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดถึง 28 วัน จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 จึงมีการพิจารณาที่จะลดอธิกวินาทีลง พวกเขาอาจจะทำการลบเวลา! ทั้งนี้ การลบเวลาจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก ว่าจะเร่งเร็วขึ้นต่อเนื่องไปเช่นนี้อีกนานเพียงใด
การปรับเวลาสากลด้วยอธิกวินาทีนั้น นอกจากจะทำให้เวลาของโลกเที่ยงตรงกับเวลาของระบบสุริยะ ให้เราเห็นการขึ้นตกของดวงอาทิตย์เป็นไปตามเวลาเช้า-เย็นของมนุษย์แล้ว ยังมีความสำคัญกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมการทำงานทุกพื้นที่ในโลก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลเวลาทั้งจากเวลาสากล และสัญญาณดาวเทียม (GPS, GLONASS, Galileo, BeiDu)
เวลาของระบบเหล่านี้ มีอธิกวินาทีเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะต้องรักษาความถูกต้องอยู่เสมอ เพราะเพียงวินาทีเดียว อาจก่อเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการรับส่งข้อมูลทำให้การซื้อขายหุ้นหรือการดำเนินธุรกรรมทางการเงินผิดพลาด ไปจนถึงเกิดโศกนาฏกรรมทางอากาศ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถคำนวณระดับความสูงการบินที่ถูกต้องได้!
การวัดระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำได้โดยวัดระยะเวลาวงโคจรของดาวเทียม แล้วคำนวณกลับเป็นเวลาที่โลกใช้หมุนรอบตัวเอง แต่ผลที่ได้อาจแฝงความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางโลก (Geocentre motion) ที่ดาวเทียมใช้เป็นจุดศูนย์กลางวงโคจร และแรงดึงดูดของวัตถุท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของโลก อาทิ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ใกล้เคียง และดวงอาทิตย์ เป็นต้น
อีกเทคนิคหนึ่งที่มีความแม่นยำกว่าในการวัดระยะเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก ก็คือเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometry) ยีออเดซี หรือ VLBI ยีออเดซี วิธีการคือ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุสองตัวขึ้นไปรับสัญญาณจากวัตถุท้องฟ้าเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน การใช้วัตถุท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลหลายล้านปีแสงเป็นวัตถุอ้างอิงของการวัดนั้นอยู่ จะทำให้ได้ผลลัพท์ที่มีความแม่นยำสูง เหตุเพราะระยะเชิงมุมของเทหวัตถุดังกล่าวจะมีขนาดเล็ก จึงมีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก และยังปราศจากผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของโลกหรือวัตถุท้องฟ้าโดยรอบ แตกต่างจากดาวเทียมซึ่งอยู่ในวงโคจรของโลก
ขณะนี้ประเทศไทย กำลังสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาด 40 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส (VLBI Geodetic Observing System: VGOS) ขนาด 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะร่วมสังเกตการณ์ในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล (VLBI) สากล ถือเป็นสถานีแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นตำแหน่งสำคัญของเครือข่ายเนื่องจากอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายฯ ระหว่างสถานีซีกโลกเหนือและใต้ เพิ่มประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์ของทั้งเครือข่ายฯ ให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นไปของเวลาสากล การเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพต่อไป
ข้อมูล และเรียบเรียง : ณัฏฐพร ทูลแสงงาม - วิศวกรด้าน Geodesy สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ที่มา: www.khaosod.co.th