เรื่อง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต) จริงแล้วมีความยืดยาวมาหลายร้อยปี แต่จะมาเล่าพอสังเขปที่เกี่ยวข้องกับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประวัติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่อง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) จริงแล้วมีความยืดยาวมาหลายร้อยปี แต่จะมาเล่าพอสังเขปที่เกี่ยวข้องกับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทยที่เคยเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ มาก่อน เนื่องจากแถบนี้เป็นเมืองชายทะเล จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมทางศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ จากอินเดียมาก่อน
ต่อมาเมื่อมีการล่มสลายของอาณาจักรมัชปาหิต เมื่อ พ.ศ. 2021 จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักการศาสนาอิสลามในปัตตานีเผยแผ่แนวคิดทางศาสนาอิสลามให้ชาวปัตตานีได้สะดวกมากขึ้น ภายหลังเมื่อนักการศาสนาอิสลามจากเมืองปาสัย (Pasai) คือ เชค ซาอิด สามารถโน้มน้าวกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ที่ปกครองบริเวณที่เป็นจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน คือ “พญาอินทิรา” แห่งโกตามหลิฆัย ให้ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามได้เมื่อ พ.ศ. 2043 และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น “สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลออฮ์ ฟิลอาลัม” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัตตานีจึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันในนาม “ปัตตานีดารุสลาม” แปลว่า ปัตตานี นครแห่งสันติภาพ
“ปัตตานีดารุสลาม” มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมาหลายพระองค์ “ราชวงศ์ศรีวังสา” ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2043-2229 มีกษัตริย์ปกครอง 9 รัชกาล และ “ราชวงศ์กลันตัน” ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2231-2329 มีกษัตริย์ปกครอง 9 รัชกาล
การสงครามระหว่าง “กรุงศรีอยุธยา” กับปัตตานีได้เริ่มขึ้น โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากความต้องการมีอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งปัตตานีเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการติดต่อกับต่างชาติ คือ เป็นบริเวณที่สามารถติดต่อได้ทางทะเลจีนใต้ และทะเลอันดามัน อีกทั้งพม่า และอยุธยา ต่างก็ต้องการเข้ายึดครองปัตตานี
นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจที่กล่าวแล้ว ยังมาจากศักดิ์ศรีของทั้งพม่าและอยุธยา รวมทั้งยังมีการทำสงครามกันเองระหว่างพี่น้องของสุลต่านเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครอง ทำให้การปกครองปัตตานีอ่อนแอลง ปัตตานีถูกสยามเข้ายึดครองโดยเด็ดขาด เมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
เมื่อรัชกาลสยามสามารถปราบปรามและปกครองปัตตานีสมัยสุลต่านมูฮัมหมัดได้สำเร็จ เมื่อพ.ศ. 2329 ปัตตานีเองก็พยายามทำการสู้รบกอบกู้เอกราชในระยแรกๆ ถึง 2 ครั้ง พ.ศ. 2334 และ พ.ศ. 2351 ฝ่ายปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้ทุกครั้ง และในปี พ.ศ.2351 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีพระบรมราโชบายโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานี ออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ รามัน สายบุรี และหนองจิก แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองอันดับสาม และต้องขึ้นกับเมืองสงขลา บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ต่างต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ
ในรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนการปกครองแบบเจ็ดหัวเมืองเป็น “มณฑลเทศาภิบาล” แต่ก็ยังทรงแต่งตั้งราชา หรือ “สุลต่าน” ปกครองต่อไป โดยให้ขึ้นกับข้าหลวงใหญ่ มณฑลนครศรีธรรมราช
หลังจากนั้นก็มีความพยายามจะก่อการกบฎหลายครั้ง แต่ก็ถูกปราบได้ทุกครั้ง “พระยาวิชิตภักดี” หรือ เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน เป็นเจ้าเมืองมุสลิม เชื้อสายมลายูคนสุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานีถูกจับในข้อหากบฎ จนทำให้คนมุสลิม ในดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลบหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2449 มีพระบรมราโชบายแบ่งอาณาเขตการปกครองใหม่ โดยปรับ 7 หัวเมือง เหลือ 4 หัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476...
จึงถือว่า ได้ยุบมณฑลทั่วราชอาณาจักรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 เป็นต้นไป “มณฑลปัตตานี” จึงแบ่งออกเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย จนถึงปัจจุบันนี้
ความเป็นมา ประวัติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
คนไทยเชื้อสายมลายูหรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “คนไทยมุสลิม” ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามคาบสมุทรมลายูเป็นเวลาหลายร้อยปี ตามประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึง “แขกมลายู” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ยังรวมกันและเรียกว่า “รัฐปัตตานี” อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสยาม โดยให้มีการปกครองตนเอง จึงมีสงครามเพื่อปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ทำให้ “รัฐปัตตานี” อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสยามและมาเลเซียสลับกันเรื่อยมา
เมื่อครั้งใดที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสยามปกครอง จะต้องส่งเครื่องบรรณาการให้ปีละ 3 ครั้ง และได้มีการกวาดต้อนชาวมุสลิมมาเป็นเชลยกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ดังทุกวันนี้ จนมาถึงช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ส่งคนจากส่วนกลางลงไปปกครอง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 “รัฐปัตตานี” จึงสูญเสียอิสระในการปกครอง แต่ก็สามารถอยู่กันได้อย่างผสมผสานทางวัฒนธรรม เพราะไม่มีนโยบายเชิงกดขี่ใดๆ
เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มเกิดขึ้น ในห้วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยเฉพาะในช่วง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่รณรงค์เรื่องความเป็นไทยทั่วประเทศ เพื่อความทันสมัยด้วยการพัฒนาทุกวัฒนธรรมให้เป็นไทย เพียงหนึ่งเดียว รวมทั้งให้ถือว่า ศาสนาพุทธเท่านั้นเป็นศาสนาประจำชาติ จากการเปลี่ยนแปลงช่วงนี้เอง ทำให้ชาวมุสลิมถูกบังคับ โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการแต่งกาย ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้นในหมู่ข้าราชการเองที่ลงไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน มีการคอร์รัปชั่น จนทำให้เกิดความเดือดร้อนโดยทั่วไป
จากเหตุการณ์ครั้งนี้เองทำให้สถานการณ์ความรุนแรงครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามประชาชน” จากขบวนการแบ่งแยกดินแดน และผู้ก่อความไม่สงบจนถึงทุกวันนี้
สรุปประวัติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประวัติจังหวัดยะลา
ยะลา เดิมเป็นท้องที่หนึ่งของเมืองปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการปรับปรุงการปกครองใหม่เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลและได้ออกประกาศข้อบังคับสำหรับปกครอง 7 หัวเมือง รัตนโกสินทรศก 120 ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามัน ในแต่ละเมืองจะแบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ประกาศจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นดูแลหัวเมืองทั้ง 7 แทนมณฑลนครศรีธรรมราช และยุบเมืองเหลือ 4 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ ต่อมา พ.ศ. 2450 เมืองยะลาแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองยะลาและอำเภอยะหา ต่อมา พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลปัตตานี และในปี พ.ศ. 2476 เมืองยะลาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นจังหวัดยะลาตามพระราชบัญญัติราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เรื่อง การจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัด เป็นอำเภอ และให้มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการ
ประวัติจังหวัดปัตตานี
อาณาจักรปัตตานี (มาเลย์: كراجأن ڤتاني; Kerajaan Patani) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในปัจจุบัน ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าอาณาจักรปัตตานีถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่น่าจะมีความสืบเนื่องไปถึงสมัยลังกาสุกะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เดิมอาณาจักรปัตตานีนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
โดยบางช่วงอาณาจักรแผ่ขยายครอบคลุมถึงกลันตันและตรังกานู ตอนกลางของมาเลเซีย แต่หลังการสิ้นสุดราชวงศ์ศรีวังสา อาณาจักรปัตตานีก็เริ่มเสื่อมลง จนตกอยู่ในอำนาจของสยามในปี พ.ศ. 2329 และกลายเป็นเมืองขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2445 ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ
ประวัติจังหวัดนราธิวาส
จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ประมาณ 1,149 กิโลเมตร โดยมีเนื้อที่ประมาณ 4,475.43 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,797,143.75 ไร่ ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดปัตตานีในเขตอำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอ่าวไทย ทิศตะวันออกติดต่อกับอ่าวไทยและรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศใต้ติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดยะลาในเขตอำเภอบันนังสตา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขา 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีป่าพรุประมาณ 361,860 ไร่ ทางแถบทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดทิวเขาสันกาลาคีรีซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย
ลักษณะพื้นที่จะมีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดกับอ่าวไทยและที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำโก-ลก มีประชากรจำนวน 717,366 คน แยกเป็นชาย 356,229 คน หญิง 361,137 คน โดยจังหวัดนราธิวาสมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการอุตสาหกรรมอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญกว่าตัวจังหวัดมาก
ที่มา: www.dailynews.co.th , sites.google.com
- มุสลิมกับคลองแสนแสบ ทำไมถึงเรียกคลองแสนแสบ
- ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมในอยุธยา ประวัติมุสลิมในสมัยอยุธยา (ละเอียด)
- ความเป็นมามุสลิมในประเทศไทย ประชากรมุสลิมในประเทศไทย อิสลามในกรุงเทพ มาจากไหน
- เรียม เพศยนาวิน จากนางสาวไทย สู่รานีกษัตริย์มาเลเซีย
- ประวัติพระเจ้าตากสิน และพระยาจักรี คือใคร มุสลิมสองพ่อลูก
- ประวัติมุสลิมในสมัยกรุงธนบุรี