เพจเฟซบุ๊กชื่อ เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา ออกมาแฉพฤติกรรมของอาจารย์ชายรายหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกิดเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊กชื่อ "เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา" ออกมาแฉพฤติกรรมของอาจารย์ชายรายหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างว่ามีพฤติกรรมคุกคาม และล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาหญิงหลายราย พร้อมทั้งมีการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อ ในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้มีการลงโทษอาจารย์คนดังกล่าว
โดยเนื้อหาของการล่ารายชื่อ ได้เล่าพฤติกรรมของอาจารย์ชายรายนี้เอาไว้ ระบุว่า
"อาจารย์ชายระดับ ดร. KKK(นามสมมติ) ของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ และเป็นผู้บริหารระดับรองคณบดี และผู้อำนวยการศูนย์ฯ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการรับงานวิจัยจากภายนอกโดยใช้นักศึกษาจำนวนมากเข้าไปช่วยทำงาน และหาโอกาสตีสนิท ใกล้ชิดกับนักศึกษาหญิงหน้าตาดีหลายราย โดยชักชวนให้ทำงานในโครงการวิจัย หรือช่วยสอน ให้ค่าจ้าง ชวนไปดื่มกินเป็นกลุ่ม ชวนไปกินอาหารสองต่อสอง ชวนไปเที่ยว ชวนไปหาที่คอนโด อ้างความรัก ความใกล้ชิด พอนานๆ ไป หลายรายคิดว่ารักจริง สุดท้ายก็ได้ตัวนักศึกษาหญิงที่อ่อนประสบการณ์ไปมากมาย
นักศึกษาหญิงรายหนึ่งต้องยอมคบหาหลังจากพลาดไป ก็เพราะเชื่อว่าคือความรัก แต่ต่อมาค้นพบว่าไม่ใช่ แต่เป็นเสมือนอาการทางจิตที่ต้องการนักศึกษาหญิงไปเรื่อยๆ ตนเองและนักศึกษาหญิงอื่นๆ เป็นเพียงเหยื่อที่อ่อนต่อโลก ก็เพราะมีความศรัทธาคนที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มีการศึกษา คิดว่าพูดความจริง รักจริง จริงจังด้วย แต่เมื่อพบว่าทำกับตนเอง รุ่นพี่ และรุ่นน้องอีกมาก แถมไม่มีทีท่าจะหยุด จึงนำเรื่องไปร้องเรียนกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านผู้บริหารระดับสูง เพราะเป็นการทำลายอนาคตของนักศึกษาหญิงที่มาจากพื้นฐานที่ดีและรู้ไม่เท่าทัน แต่อาจารย์กลับได้ประโยชน์ทั้งได้งาน ได้เงิน ได้ตัว..."
"ตามที่มหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับอดีตนักศึกษาหญิง ในขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 นั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยคณะกรรมการฯ จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางจรรยาบรรณ และจริยธรรมมาโดยตลอด มหาวิทยาลัยจึงมีจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศทุกในรูปแบบ และขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานที่จะรักษาความเป็นกลาง มีความยุติธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ หรือเอนเอียงให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"