การค้นพบซากฟอสซิลเทอโรซอร์ (pterosaur) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 96 ล้านปีก่อน
คณะนักบรรพชีวินวิทยาออสเตรเลียประกาศการค้นพบซากฟอสซิลเทอโรซอร์ (pterosaur) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 96 ล้านปีก่อน และมีระยะห่างระหว่างปลายปีกสองข้างกว่า 4 เมตร ครองฉายา “มังกรเหล็ก”
รายงานระบุว่าบ็อบ เอลเลียตต์ (Bob Elliott) ชาวฟาร์มท้องถิ่นที่ทำงานอยู่ในทุ่งเลี้ยงแกะทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมวดหินวินตัน (Winton Formation) รัฐควีนส์แลนด์ ค้นพบซากกระดูกที่กลายเป็นฟอสซิลโดยบังเอิญเมื่อปี 2017
ทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจากพิพิธภัณฑ์ยุคไดโนเสาร์แห่งออสเตรเลีย (AAOD) ได้รับแจ้งการค้นพบดังกล่าว จึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อดำเนินการขุดสำรวจเพิ่มเติมจนกระทั่งพบซากฟอสซิลทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตจากยุคบรรพกาลนี้
ซากฟอสซิลกระดูกขากรรไกรขนาดใหญ่ กะโหลก หงอน กระดูกสันหลัง 5 ชิ้น กระดูกขา 8 ชิ้น ซี่ฟันและเศษฟัน 40 ชิ้น ถูกประกอบรูปร่างจนกลายเป็น “ตัวอย่างเทอโรซอร์ที่มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด” เท่าที่เคยค้นพบในออสเตรเลีย
คณะนักบรรพชีวินวิทยาตั้งชื่อเทอโรซอร์สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “เฟอร์โรดราโก เลนโตนี” (Ferrodraco Lentoni) ซึ่งหมายถึงมังกรเหล็กของเลนตัน เพื่อเป็นการระลึกถึงเกรแฮม เลนตัน (Graham Lenton) อดีตผู้ว่าการนครวินตัน
อะเดล เพนต์แลนด์ (Adele Pentland) นักบรรพชีวินวิทยาประจำพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นผู้นำการศึกษาซากฟอสซิลที่ค้นพบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปริญญาเอกด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น
เพนต์แลนด์เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าเทอโรซอร์เป็นสิ่งมีชีวิต “บินได้” ที่ล่าปลาในทะเลสาบและแม่น้ำกินเป็นอาหาร โดยเฟอร์โรดราโกที่มีปีกกว้างราว 4 เมตร ถือเป็นสุดยอดนักล่ากลางเวหา ณ ห้วงเวลาราว 96 ล้านปีก่อน
“ตอนนั้นภูมิภาควินตันตั้งอยู่บนชายฝั่งตอนใต้ของทะเลใน (inland sea) และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นแนวชายฝั่งทะเลตอนใต้ของรัฐวิคตอเรียในปัจจุบัน” เพนต์แลนด์กล่าว พร้อมอธิบายว่าเทอโรซอร์ไม่ใช่ไดโนเสาร์แต่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน
นอกจากนั้นเทอโรซอร์จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความแข็งแกร่งและความแพร่หลายตลอดยุคไดโนเสาร์หรือราว 150 ล้านปีก่อน แต่การค้นพบฟอสซิลของพวกมันเป็นเรื่องหายากมาก โดยเฉพาะในออสเตรเลีย เนื่องจากโครงสร้างกระดูกที่เป็นโพรง
เดวิด เอลเลียตต์ (David Elliott) ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์ฯ เปรียบเสมือนโบนัสก้อนโตของวงการวิทยาศาสตร์ การศึกษา และการท่องเที่ยว